น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงการลงนามในข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรก (Economic and Trade Agreement between the United States of America and the People’s Republic of China – Phase 1) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่า นับเป็นข่าวดีต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นสัญญาณบวกชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 สหรัฐฯ ได้ปรับลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ กลุ่ม 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลืออัตรา 7.5% (จากเดิม 15%) และชะลอการเก็บภาษีสหรัฐฯ เพิ่มเติม ตลอดจนเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 สหรัฐฯ ปรับสถานะประเทศจีนด้านค่าเงินให้ดีขึ้น โดยยกเลิกการขึ้นบัญชีดำจีนในฐานะประเทศบิดเบือนค่าเงิน (US currency manipulator list) เหลือแค่การอยู่ในกลุ่มประเทศที่เฝ้าจับตา (watch list) ซึ่งสัญญาณบวกเหล่านี้เมื่อประกอบกันแล้ว จะช่วยลดแรงกดดันและสร้างบรรยากาศการค้าโลกให้ดีขึ้น และเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจนักลงทุน
น.ส.พิมพ์ชนก ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ น่าจะได้อานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว และเมื่อเสริมกับพื้นฐานสินค้าและตลาดส่งออกของไทยที่ดีและมีความหลากหลาย จะเป็นแรงเสริมให้กับการค้าและการส่งออกของไทยโดยภาพรวม นอกจากนี้ ข้อตกลงระยะแรกไม่ได้ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ไทยจึงควรเร่งใช้โอกาสในการทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ต่อไป โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยสามารถทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ดี เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง
ในประเด็นที่บางส่วนมีความกังวลว่าสินค้าบางกลุ่มอาจเผชิญการแข่งขันสูงขึ้นในตลาดจีนนั้น สนค. ตั้งข้อสังเกตว่า สินค้าภายใต้ข้อตกลงที่จีนต้องซื้อเพิ่มจากสหรัฐฯ หลายรายการ สอดคล้องกับความต้องการของจีนและยังมีช่องว่างสำหรับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ อาทิ เนื้อสัตว์ ฝ้าย อาหารทะเล ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ และถ่านหิน ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และส่วนประกอบ อาจเผชิญการแข่งขันมากกว่ากลุ่มข้างต้นจากปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และการพัฒนา/ควบคุมมาตรการการผลิต ซึ่งแม้ว่าโดยส่วนใหญ่สินค้าไทยยังมีความได้เปรียบสินค้าประเทศอื่นในตลาดจีน สะท้อนจากดัชนี Revealed Comparative Advantage (RCA) แต่ก็ไม่ควรละเลยการรักษาตลาดและเร่งปรับตัวให้ทันกับปัจจัยรอบด้านที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้
อนึ่ง ความตกลงดังกล่าวครอบคลุมประเด็นเศรษฐกิจการค้าสำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายโอนเทคโนโลยีการขยายการค้า การค้าสินค้าเกษตรและอาหาร บริการทางการเงิน นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคและอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการดำเนินการระงับข้อพิพาท
ในด้านการขยายการค้าและการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร จีนจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ภายในเวลา 2 ปี (1 ม.ค.63-31 ธ.ค.64) ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม มูลค่า 7.77 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ เหล็ก สินค้าเกษตร มูลค่า 3.20 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่น เมล็ดพืชน้ำมัน เนื้อวัว หมู ไก่ อาหารทะเล อาหารสัตว์ สินค้าพลังงาน มูลค่า 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ตลอดจนบริการ มูลค่า 3.79 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่น การท่องเที่ยว การประกันภัย และหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ข้อตกลงฯ ยังระบุถึงความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคการค้าและสนับสนุนการขยายตัวของสินค้าสหรัฐฯ เช่น ผลิตภัณฑ์นม อาหารทารก สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ สินค้าประมง ข้าว อาหารสัตว์ พืชสวน และผลิตภัณฑ์เกษตรชีวภาพอีกด้วย
สำหรับประเด็นสำคัญอื่นๆ ของข้อตกลงนั้น จีนจะเพิ่มระดับการคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจีนต้องเสนอร่างแผนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 30 วัน อีกทั้งจีนจะเปิดตลาดบริการทางการเงิน เช่น บริการธนาคาร การประกันภัย การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากนี้สองฝ่ายตกลงที่จะละเว้นการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยีและการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเข้าครอบครองเทคโนโลยีของต่างชาติ และจะละเว้นการดำเนินนโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ในส่วนของการดำเนินการตามข้อตกลงและการระงับข้อพิพาทนั้น สองฝ่ายจะจัดตั้งคณะทำงานด้านกรอบการค้า (Trade Framework Group) เป็นเวทีของผู้แทนระดับสูงเพื่อหารือการดำเนินการตามข้อตกลงฯ รวมทั้งจะจัดตั้งสำนักงานประเมินและระงับข้อพิพาท (Bilateral Evaluation and Dispute Resolution Office) เพื่อหารือ ติดตาม และประเมินการดำเนินการตามข้อตกลงฯ ตลอดจนแก้ไขปัญหา อุปสรรค กำหนดกรอบเวลาและขั้นตอนการระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ สนค. จะศึกษารายละเอียดสินค้าภายใต้ข้อตกลงฯ เพื่อประเมินผลกระทบและชี้ช่องโอกาสการส่งออกเพิ่มเติม ให้สอดรับนโยบายและมาตรการเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ในการรุกตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่า รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ และเดินหน้าขยาย FTA กับคู่ค้าศักยภาพ รวมทั้งจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อตกลงระยะแรก และการหารือประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่จะอยู่ในข้อตกลงระยะถัดไป (Phase Two) เช่น การอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ การคุกคามทางไซเบอร์ การเลือกปฏิบัติต่อการค้าดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความท้าทาย และอาจถูกใช้ในการรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อไป