(เพิ่มเติม) SCBEIC คาด ศก.ไทยปี 63 โต 2.7% ฟื้นจากปี 62 โต 2.5% แต่ยังไม่เต็มศักยภาพ ส่งออกพลิกกลับมาบวก 0.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 17, 2020 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center : EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะเติบโตที่ 2.7% ฟื้นตัวเล็กน้อยจากปี 2562 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5% ตามภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากภาวะการค้าโลกที่น่าจะปรับดีขึ้นบ้าง ส่วนหนึ่งเกิดจากการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Phase 1) ที่จะนำไปสู่การยกเลิกและลดภาษีสินค้านำเข้าบางส่วนที่ขึ้นไปก่อนหน้า รวมถึงแนวนโยบายการเงินและการคลังของหลายประเทศทั่วโลกที่มีทิศทางผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าสะสมกว่า 24% เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่องจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย รวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังขยายตัวได้แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 41.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.7% เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 4.3% จากผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเงินบาทที่แข็งค่า

"เรามองว่า GDP ปีนี้น่าจะโตได้ 2.7% ลดลงจากก่อนหน้าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.8% แต่ยังถือว่าฟื้นตัวจากปี 62 ที่โตได้ 2.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออก และเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยเราคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้ จะเป็นบวกได้เล็กน้อยที่ 0.2% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สหรัฐและจีนสามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ในเฟสแรก ทำให้คลายความกังวลเรื่องสงครามการค้าลงไปได้ แต่การส่งออกที่แม้จะฟื้นตัวนั้น ก็ยังมีข้อจำกัดจากเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าในปีนี้" นายยรรยง ระบุ

นายยรรยง กล่าวถึงค่าเงินบาทในปีนี้ว่า มีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ในช่วง 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์ ตามแรงกดดันของดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ยังจะเกินดุลในระดับสูง ขณะที่การเปิดเสรีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมทั้งด้านการทำธุรกิจและการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจะมีส่วนลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น และคงต้องใช้เวลาในการลดข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง เช่น การเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การยกระดับความสามารถในการลงทุนต่างประเทศ ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค จึงจะทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในระดับสูง และสามารถลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทอย่างมีนัย

"เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าในปีนี้ เพราะยังมีแรงกดดันต่อเนื่อง ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ประกอบกับเมื่อเวลาเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่า เพราะความต้องการดอลลาร์ลดลง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเงินของทุนไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นด้วย" นายยรรยง ระบุ

สำหรับภาวะการเงินในประเทศ อัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องทั้งปี ขณะที่เงินบาทจะมีแรงกดดันให้อยูในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง โดย SCBEIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังใช้นโยบายการเงินในระดับผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย กนง.มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ตลอดทั้งปี 2563 และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 1 ครั้งหากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด

ขณะที่ธนาคารกลางที่สำคัญของโลก คือ ธนาคากลางสหรัฐ (FED) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ไว้ แต่ก็พร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้

"เชื่อว่า ธปท.มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันน่าจะต่ำเพียงพอแล้ว หากลดดอกเบี้ยลงไปมากกว่านี้ อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินต่างๆ แต่ก็ยังมีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลงได้ หากเศรษฐกิจแย่กว่าคาด หรือเงินบาทแข็งค่าเร็วมาก ซึ่งถ้าจะปรับลดลงก็น่าจะลงได้อีกครั้งเดียว แต่ในระยะสั้น เรามองว่าดอกเบี้ยคงไม่ลงภายในปีนี้แน่" นายยรรยง ระบุ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 65 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจะทรงตัว เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท

นายยรรยง กล่าวถึงด้านอุปสงค์ในประเทศของภาคเอกชนคาดว่า การบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตได้ 2.9% จากในปีก่อนที่ขยายตัว 4.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยแม้ว่าภาคส่งออกจะมีโอกาสฟื้นตัว แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องตามหลายปัจจัยกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำต่อเนื่อง รายได้นอกภาคเกษตรที่เริ่มหดตัว ส่วนรายได้ภาคเกษตรก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนในระยะต่อไป

ส่วนด้านการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.7% ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 2.2% ซึ่งนอกจากจะมีแนวโน้มชะลอลงตามกำลังซื้อในประเทศแล้ว อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ที่อยู่ในระดับต่ำ และระดับสินค้าคงคลัง (inventory) ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ก็จะส่งผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์เพื่อการบริโภคและการพาณิชย์ที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ในช่วงก่อนหน้า ก็จะเป็นอีกปัจจัยกดดันภาคอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไป

นายยรรยง มองว่า ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการประคับประคองเศรษฐกิจปี 2563 ทั้งในรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลกลุ่มเปราะบางระยะสั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน (Enabler) โดยเฉพาะการเปิดประมูลโครงการ 5G ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ประกอบกับการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าจากเมื่อปลายปี 2562 จึงทำให้หลายโครงการมีการเลื่อนเบิกจ่ายมาในปี 2563

"การประมูล 5G ในเดือนหน้าคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาประมาณ 93,000 ล้านบาท รวม 4 ปี น่าจะได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติม" นายยรรยง ระบุ

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2563 มี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า 2.ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และ 3.ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยปัจจัยเสี่ยงด้านสงครามการค้านั้น แม้ล่าสุดจะมีข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Phase-1 deal) แต่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจกระทบต่อการค้าโลกได้ อาทิ การเจรจากับจีนในระยะต่อไป การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป และการพิจารณาของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP ของหลายประเทศ ส่วนปัจจัยเรื่องความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง และประเด็น Brexit ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศ คือ ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ในระดับสูงและการสร้างรายได้ถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (technology disruption) และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ