ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 จะอยู่ในระดับปานกลาง 2.7% จากปี 62 ที่ขยายตัว 2.5% โดยมองว่าน่าจะได้รับผลบวกจากความต้องการสินค้าส่งออกดีขึ้นล็กน้อย การบริโภคภาคเอกชนพื้นตัว รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐอย่างจริงจังมากขึ้นในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในอนาคตมีแนวโน้มจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกมาจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอมริกาและจีน ส่วนความเสี่ยงระยะสั้นจากปัจจัยภายในประเทศ คือ ความสมานฉันท์ของรัฐบาลร่วมหลายพรรคการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 63 มีความเสี่ยงด้านการเมือง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางนโยบายในเรื่องกระบวนการพิจารณางบประมาณของภาครัฐ อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะรัฐบาลผสม 19 พรรคมีเสียงปริ่มน้ำในสภา หากรัฐบาลผสมขาดเสถียรภาพ ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โครงการใหม่ที่ยังไม่อยู่ในขั้นตอนดำเนินการก็จะล่าช้า ซึ่งส่งผลเสียต่อภาคใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกมีผลจะกระทบต่อการส่งออก
หากมองปัจจัยด้านบวก ภาคการส่งออกของไทยอาจได้รับประโยชน์จากความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการค้าที่บรรเทาลง, การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐและโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ที่สำคัญสามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และลดความอ่อนไหวในกลุ่มนักลงทุนได้ในระยะสั้นและระยะปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาครัฐบริหารจัดการลงทุนโครงการเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย การที่ภาครัฐกำลังริเริ่มดำเนินการเพื่อคุ้มครองครัวเรือนที่เปราะบางนั้น ภาครัฐควรพิจารณาวิธีที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อการคุ้มครองทางสังคมที่ตรงเป้าหมายดียิ่งขึ้น
เวิลด์แบงก์ ระบุในรายงาน "ตามติดเศรษฐกิจไทย : ผลิตภาพเพื่อความมั่งคั่ง"ว่า หากแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยยังคงเหมือนเดิมต่อไป โดยที่การลงทุนและผลิตภาพไม่มีท่าทีจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้วนั้น เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 3%
"การที่ประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงให้สำเร็จภายในปี 2580 นั้น ประเทศไทยต้องมีเศรษฐกิจที่เติบโตสูงกว่า 5% อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยผลิตภาพที่เกติบโตในอัตรา 3% ต่อปี และเพิ่มการลงทุนเป็น 40% ของ GDP" นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส เวิลด์แบงก์ ระบุ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้เสนอรัฐบาลให้ออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น โดยต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งฐานะการคลังของประเทศยังมีศักยภาพที่ทำได้ และต้องมีการดูแลผู้มีรายได้น้อยอยู่ในระบบประกันสังคม ดูแลคนจน ผู้สูงอายุ และผู้ตกงาน อีกทั้งต้องเร่งการลงทุนตามแผนการพัฒนาประเทศ 20 ปี โดยเฉพาะโครงการร่วมลงทุนรัฐกับเอกชน (PPP) โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะที่การการพัฒนาเศรษฐกิจไทยระยะยาว ต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ประเทศรายได้สูงภายในปี 2580
นายเกียรติพงศ์ ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2562 ว่าขยายตัวได้ 2.4% ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2562 GDP ยังขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2558 และแม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามดำเนินมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงในระยะสั้น และนโยบายการเงินอย่างรวดเร็ว ผ่านการใช้งบประมาณ 316 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นกลุ่มเกษตร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และกลุ่มชนชั้นกลางผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร การเลื่อนจ่ายหนี้ เป็นต้น แต่ผลกระทบจากการดำเนินการจนถึงปัจจุบันยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการขาดดุลการคลังได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การกู้ยืมเงินของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมชะลอตัวลง
ส่วนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนั้น มองว่ายังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนเศรษฐกิจได้ แต่ยังมีผลจำกัด แม้ว่าก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.25%
"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวไปทางด้านล่างหรือด้านต่ำ เนื่องจากการส่งออกของไทยมีความไม่แน่นอน รวมทั้งยังมีความเสี่ยงทางการเมืองเข้ามากดดัน แม้ว่านโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะยกระดับเศรษฐกิจของไทยได้ แต่ก็มีปัญหาการดำเนินนโยบายและมาตรการให้เกิดขึ้นจริงในภาคปฏิบัติ นอกจากนี้ การบริโภคที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็ยังติดปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูง" นายเกียรติพงศ์ กล่าว