สรท.ประสาน ธปท.ผ่อนคลายอุปสรรค, เพิ่มการใช้ประโยชน์บัญชี FCD แก้ปัญหาบาทแข็ง-ต้นทุนแฝงของผู้ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 17, 2020 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหาร สรท.เข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออก และการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

โดย สรท.ได้ขอให้ ธปท.แก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นการกิจกรรการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้ 1) ขอให้ช่วยบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่เป็นต้นทุนแฝง และปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางการเงิน ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีต้นทุนแฝงที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีแนวโน้มของต้นทุนแฝงลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และค่าธรรมเนียมการโอนเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD

2) สรท.เห็นด้วยกับมาตรการ Counter flow ของธปท. มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทด้วยการสนับสนุนให้เอกชนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดย สรท.เสนอให้มีการใช้ counter flow ในรูปแบบของการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเงินตราต่างประเทศทั้ง Supply chain แก่ผู้ประกอบการเพื่อลดลงแรงกดดันจากค่าเงินบาท เพิ่มเติมจากการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ สรท.มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าขอให้หน่วยงานภาครัฐของไทยเป็นผู้ออกลงไปลงทุนนอกประเทศด้วย เนื่องจากเม็ดเงินและความน่าเชื่อถือของภาครัฐจะมีมากกว่าเอกชน ประกอลกับปัจจุบัน ธปท.ได้อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถเปิดบัญชี FCD ได้จึงเป็นโอกาสที่จะสามารถนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว ขณะเดียวกัน ธปท. ควรพิจารณาให้บุคคลธรรมดาที่เปิดบัญชี FCD สามารถซื้อขายกรมธรรม์ด้วยสกุลเงินดอลลาร์ได้

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า ผู้ว่า ธปท.ได้ตอบรับข้อเสนอของ สรท. ดังนี้ 1) ในปัจจุบัน ธปท.ได้อนุญาตให้ทำการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัญชี FCD ได้แล้ว แต่จำเป็นต้องมีการปรับกระบวนการและเงื่อนไขของการใช้ประโยชน์จากบัญชี FCD ให้ง่ายและสะดวกมากขึ้นใกล้เคียงกับการใช้บัญชีเงินบาท รวมถึงจะทบทวนกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

2) ธปท. จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ในการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ระหว่างธนาคาร อย่างไรก็ตาม ธปท. แนะนำให้ผู้ประกอบการทำการค้าระหว่างกันเปิดบัญชี FCD ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เดียวกัน เพื่อช่วยลดขั้นตอน เวลา และค่าธรรมเนียม ในการทำธุรกรรมให้น้อยลง

ส่วนแนวทางความร่วมมือของ ธปท. และ สรท.นั้น จะเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการส่งออก-นำเข้า อาทิ 1. แนวโน้มค่าเงินบาท เช่น อัตราแลกเปลี่ยนรายวัน และทิศทางที่คาดการณ์ บทวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน 2. การเปรียบเทียบต้นทุนการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยจะเปิดเผยข้อมูลค่าธรรมเนียม FCD ของธนาคารพาณิชย์ และ 3. การให้ความรู้พื้นฐานเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หลักเกณฑ์และเอกสารที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกรรม ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการส่งออกและเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น

นอกจากนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมมือในการลดต้นทุนแฝงในการทำการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพในการส่งออกไทย อาทิ ลดค่าธรรมเนียมทางการเงิน แก้ไขระเบียบจากภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการส่งออก ปรับปรุงระบบ National Single Window ให้เป็น Single Submission ที่สมบูรณ์ เชื่อมโยงทั้งระบบ และไม่ต้องใช้เอกสารในการดำเนินพิธีการส่งออกและนำเข้า ซึ่งจะส่งผลต่อการลดต้นทุนโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางของ ธปท.ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเร่งนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ เข้ามาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในช่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งนั้น สรท. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจะนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรโดยตรงจากต่างประเทศว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปริมาณและศักยภาพในการนำเข้าไม่มากพอ จึงจำเป็นต้องนำเข้าผ่านตัวแทนหรือตัวกลางที่จำหน่ายเครื่องมือ เครื่องจักร ซึ่งต้องมีกำหนดราคาเพิ่มเติมค่าดำเนินการและกำไรของตัวแทนหรือตัวกลางอยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับมีการคิดค่าบริการหลังการขายรวมอยู่ในราคาสินค้านั้น ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมไม่ได้ประโยชน์จากการนำเข้าเครื่องจักรในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ