กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.25-30.60 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 30.40 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนตามกระแสเงินทุนไหลออกและการตัดขาดทุน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตร 6.8 พันล้านบาท และ 3.8 พันล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าภาพรวมการเคลื่อนไหวของสกุลเงินหลักอยู่ในภาวะผันผวนต่ำกว่าเฉลี่ยในรอบหลายปีและตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ด้วยแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส แม้นักลงทุนตอบรับอย่างจำกัดต่อการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจจีนบ่งชี้ถึงเสถียรภาพมากขึ้น พลวัตดังกล่าวมีแนวโน้มกดดันค่าเงินเยนในระยะนี้
ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะมีมติคงนโยบายไว้ตามเดิมในการประชุมสัปดาห์นี้ ส่วนเงินปอนด์ยังคงผันผวนหลังเผชิญแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) อาจจะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะติดตามข้อมูลส่งออกนำเข้าเดือนธ.ค.ซึ่งคาดว่าอาจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำว่ากังวลกับการแข็งค่าของเงินบาท โดยทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้นต่อเนื่องสะท้อนการเข้าดูแลค่าเงินบาทและธปท.พร้อมดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากพบการเก็งกำไร
อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่าการชี้แจงว่าการแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลของการเกินดุลการค้าในระดับสูงขณะที่การออกไปลงทุนต่างประเทศยังมีจำกัด สะท้อนปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้น บ่งชี้ว่ายังไม่มีความจำเป็นสำหรับมาตรการแข็งกร้าวโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินทุนขาเข้า
อนึ่ง ท่าทีดังกล่าวสะท้อนความพยายามเพื่อสื่อสารกับตลาดว่าทางการไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนการเริ่มอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้สอดคล้องกับการประเมินของธนาคารที่ว่าสกุลเงิน อาทิ หยวนจีน และวอนเกาหลีใต้ ซึ่งเผชิญแรงขายในปี 2562 จากสงครามการค้าจะนำกลุ่มตลาดเกิดใหม่แข็งค่าในปีนี้ ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเล็กน้อยเทียบดอลลาร์และ Underperform กลุ่มสกุลเงินภูมิภาค ทั้งนี้ นับตั้งแต่สิ้นเดือนพ.ย. 2562 เงินบาทอ่อนค่าราว 0.5% สวนทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้น