นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ให้มีความยืดหยุ่นขึ้นนั้น มองว่ายังไม่สามารถผลักดันการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะจากหนี้สินครัวเรือนที่สูงถึง 79% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) และหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ยังสูงถึง 220% ทำให้การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว แม้ว่ารัฐบาลจะมีการกระตุ้น และ ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ก็ตาม ซึ่งมองว่า LTV ที่ผ่อนคลายลงในครั้งนี้จะช่วยดูดซับซัพพลายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดให้ลดลงได้เพียงเล็กน้อย
ขณะที่การลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้ว่าจะผ่านไปด้วยดี แต่ก็ยังเผชิญกับการกีดกันทางการค้า จากการที่สหรัฐฯได้ตั้งเงื่อนไขให้จีนสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า และยังไม่ปลดล็อกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 3.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สงครามการค้ายังไม่ได้ผ่อนคลายลงในระยะสั้น และยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าโลกที่อาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ดีมากนัก และกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะติดลบ 1% ในปี 63
ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังคงประเมินการขยายตัวของ GDP ไว้ที่ 2.7% โดยปัจจัยหนุนหลักจะมาจากการลงทุนของภาครัฐที่คาดว่าเติบโต 6.9% จากปีก่อนที่ติดลบ ซึ่งมองว่างบประมาณของภาครัฐจะเริ่มเบิกจ่ายออกมามากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/63 เป็นต้นไป แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 1/63 ถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับแรงกดดันอยู่มาก ทั้งจากภาวะภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่เป็นตัวถ่วงต่อการบริโภคครัวเรือนที่ลดลง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่ากระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาเรื่องฝุ่น ปัญหาโรคระบาดปอดอักเสบในเมืองอู่ฮั่น ของจีน และการที่ประเทศเพื่อนบ้านดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยออกไป ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกนี้จะยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้น
สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระดับ 2.7% เป็นระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เติบโต 3.4% เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศจากด้านซัพพลาย โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้เกิดความไม่สมดุลในเชิงโครงสร้างประชากร กลุ่มคนวัยแรงงานมีจำนวนลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว ขณะเดียวกันโครงสร้างภาษีของรัฐที่มีการเรียกเก็บในอัตราสูง และการพยายามหาช่องทางการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้ภาระภาษีของคนในประเทศเพิ่มขึ้น กระทบต่อกำลังซื้อ รวมถึงทำให้คนในประเทศไม่สามารถเข้าถึงสินค้าได้หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่มีอัตราภาษีสูง
"รัฐน่าจะนำเรื่องการเก็บภาษีมาดูใหม่ ให้การเก็บภาษีมีความเหมาะสมมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ประชาชนถือว่ายังเสียภาษีในอัตราที่สูง และการจัดเก็บภาษีที่สูงก็มีผลต่อการนำเข้าสินค้ามาขายที่ต้องมีราคาสูงตาม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายขึ้น และมีผลต่อการนำเข้าในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ซึ่งมองว่าการพิจารณาโครงสร้างอัตราภาษีใหม่จะเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้ดีขึ้นได้"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% ต่อปี เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากที่ในช่วงไตรมาส 1/63 ยังไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ๆเข้ามา ประกอบกับค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่ ทำให้มองว่ามีโอกาสที่ กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วงไตรมาสแรกนี้
และประเมินค่าเงินบาทในช่วงกลางปีและสิ้นปีนี้ยังคงแข็งค่าที่ระดับ 29.75 และ 29.25 ตามลำดับ เนื่องจากแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลสูงใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับการนำเข้าของไทยปีนี้จะทรงตัว หรือเติบโต 0% ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลอยู่ และทำให้ค่าเงินบาทยังแข็งค่า