พาณิชย์ เคาะ 4 แนวทางช่วยสินค้ากลุ่มที่สหรัฐฯจะตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่เม.ย.63 ควบคู่กับการเจรจาขอคืนสิทธิ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 23, 2020 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญภาคเอกชนในกลุ่มสินค้า 573 รายการ ที่สหรัฐฯประกาศจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในเดือนเม.ย.63 เช่น กลุ่มอาหารปรุงแต่ง, กลุ่มเซรามิก, กลุ่มเคมีภัณฑ์, กลุ่มเครื่องหนังฟอก, กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเหล็ก เป็นต้น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือเพื่อหาแนวทางรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกตัดสิทธิ GSP ซึ่งเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการเจรจากับสหรัฐฯ ขอคืนสิทธิ

โดยที่ประชุมได้สรุปมาตรการระยะสั้น และระยะยาวที่รัฐสามารถดำเนินการได้ 4 แนวทาง คือ 1.ด้านการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เช่น อาจจะลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมให้กับผู้ส่งออก เป็นต้น

2.ด้านการตลาด เช่น เร่งทำข้อตกลงทางการค้า โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (EU) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อให้ผู้ส่งออกได้มีตลาดส่งออกใหม่ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ สนับสนุนกิจกรรมการขยายตลาดใหม่ โดยการจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ การจัดคณะนักลงทุนและนักธุรกิจร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนในลักษณะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในการเข้าสู่ตลาดใหม่

3.ด้านการอำนวยความสะดวก เช่น ลดต้นทุนการผลิต ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และ 4.ด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างนวัตกรรม เช่น ส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) สนับสนุนการนำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ และสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ (Startup) ผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรมในตลาดสหรัฐฯ ในระยะต่อไป

"แนวทางดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ส่งออกในกลุ่มสินค้าที่จะถูกตัด GSP ขณะเดียวกันยังรอให้ผู้ส่งออกรายกลางและเล็ก (SMEs) ที่น่าจะได้รับผลกระทบมาก ให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีสิ่งใดที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออีกหรือไม่ อย่างไร เพื่อจะได้หามาตรการช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งทำให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกมากที่สุด" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ