นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี 5G ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และผู้ประกอบการค่ายมือถือจำนวน 5 ราย ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC), บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), บมจ.ทีโอที (TOT) และบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT)
นายสมคิด กล่าวว่า การหารือในวันนี้ได้มีการกำชับกับสำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลฯ และผู้ประกอบการค่ายมือถือ เรื่องของการขยายผลเทคโนโลยี 5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยทาง กสทช. และกระทรวงดิจิทัลฯ จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนและต่อยอด 5G ไม่ใช่เป็นภาระของผู้ประกอบการค่ายมือถือเพียงฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ มองว่าเทคโนโลยี 5G มีความจำเป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในวงการอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรม หากการประมูลเกิดความล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ จะส่งผลทำให้การลงทุนของต่างชาติย้ายไปในประเทศที่มีความพร้อมกว่าประเทศไทยได้ โดยการประมูล 5G ที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.พ.นี้ ทาง บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ก็จะเข้าร่วมการประมูลด้วย
"เรื่องการประมูล กสทช.ได้เสนอให้นายกฯตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ 5G แล้ว เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมได้ประโยชน์สูงสุด โดยการประมูลครั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่า ไม่อยากให้ดูที่ราคาประมูล แต่อยากให้มองว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศได้อย่างไร เพราะการลงทุนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยได้อย่างมาก"นายสมคิด กล่าว
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูล 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนต่อยอดภายหลังการประมูล 5G คิดเป็นมูลค่า 1.9-2 พันล้านบาท จากที่ปีนี้ค่ายมือถือต่างๆ มีการแจ้งการลงทุนรวมคิดเป็น มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท และน่าจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 63 ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)
นอกจากนี้ กสทช.กำหนดการประมูล 5G ในวันที่ 4 ก.พ.63 เป็นวันยื่นความจำนงค์พร้อมวางหลักประกัน และวันที่ 16 ก.พ.63 เป็นวันเคาะราคาประมูล หลังจากนั้นคาดจะส่งมอบใบอนุญาตฯ ได้ภายในปลายเดือน ก.พ.นี้ เงื่อนไขผู้เข้าประมูลจะต้องมีการลงทุนโครงข่ายในพื้นที่ EEC นอกเหนือจากการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งาน 5G ในช่วงเดือน ต.ค.63
ส่วนแนวทางในการผลักดันการประมูล 5G ให้สำเร็จได้นั้น ขณะนี้กสทช.ได้มีการเจรจากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เพื่อเพิ่มเครดิตเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการค่ายมือถือรองรับการลงทุน 5G ในครั้งนี้ โดยทาง ธปท.น่าจะมีการประสานงานกับทางธนาคารพาณิชย์ให้มีการปล่อยสินเชื่อต่อไป
ปัจจุบันมีโอเปอเรเตอร์ รวม 5 รายที่เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ 5G ประกอบด้วย บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือ DTAC, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ TRUE , CAT , TOT และ และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิว เอ็น) ในเครือ ADVANC
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการเข้าประมูลโครงข่าย 5G โดยน่าจะมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้กับทางคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาตัดสินใจอีกครั้งในช่วงต้นเดือน ก.พ.63
พร้อมกันนี้จากการที่ได้มีการหารือกับทางนายสมคิด และกสทช.ได้มีการนำข้อเสนอกับทางรัฐบาล โดยอยากให้ทางภาครัฐมีการสนับสนุนทางผู้ประกอบการค่ายมือถือในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านเงินทุน (subsidize) ซึ่งเหมือนกับในประเทศจีน และเกาหลี ที่รัฐบาลมีการสนับสนุนด้านเงินทุนให้ราว 20%