นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และส่งผลกระทบต่อภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีมาตรการหลายด้านจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยหอการค้าไทยได้เสนอแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในหลายด้าน ดังนี้
ด้านการเกษตร ควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นและซังข้าวโพด มาอัดเป็นก้อนแล้วขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลในท้องถิ่น รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ พร้อมขยายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อลดการเผาทิ้ง โดยให้เผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าระบบปิดแทน ซึ่งควรมีการจัดทำแผนลดการเผาข้าวและข้าวโพด เหมือนกรณีอ้อยที่มีแผนการลดการเผาเป็น 0% ในปี 2565
ทั้งนี้ หอการค้าไทยเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษของภาครัฐสำหรับเกษตรกรที่มีการเผาพื้นที่ไร่นา เช่น งดให้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐสำหรับเกษตรกร นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการจัดการแปลงที่ดิน เช่น การจัดเวลาเพาะปลูก การรวมแปลง เพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรให้เหมาะสมและคุ้มทุน รวมทั้งภาครัฐอาจจะส่งเสริมให้เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำในการซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อรับจ้างหรือให้บริการเกษตรกรรายย่อย ในขณะเดียวกันก็ควรสนับสนุนให้มีการ share utilization เครื่องจักรกลการเกษตร หรือนำมารับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตและไถกลบ หรือรวบรวมชีวมวลที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดการเผาทำลาย ทั้งใน ข้าว อ้อย และข้าวโพด นอกจากนั้น ควรมีการส่งเสริมธุรกิจบริการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร และให้เกษตรกรรายใหญ่ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย ในด้านการขนส่ง ขอให้ภาครัฐเข้มงวดการตรวจจับรถควันดำทุกประเภท และให้มีการตรวจวัดควันดำตั้งแต่ต้นทางของบริษัทรับขนส่งสินค้าเพื่อลดความแออัด เสนอให้มีการตรวจสภาพรถบรรทุกและรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง และขอให้มีการทบทวนมาตรการการเดินรถวันคู่-วันคี่ และการจำกัดเวลาเดินรถ นอกจากนั้น ขอให้ยกเลิกรถบริการสาธารณะทุกประเภทที่หมดอายุการใช้งาน และให้เปลี่ยนเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งให้มีมาตรการจูงใจลดหย่อนภาษีให้กับผู้ใช้รถยนต์เก่า (10 ปีขึ้นไป) ที่ต้องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ Hybrid หรือ EV ขณะเดียวกันก็ขอให้มีสถานีบริการสำหรับรถยนต์ EV มากขึ้น
ส่วนในภาคเอกชน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนตรวจสภาพรถยนต์ของตนเองให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์กรองไอเสียให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และให้ศูนย์บริการรถยนต์ ศูนย์ตรวจสภาพรถเอกชน ให้คำแนะนำและเสนอบริการที่จะลดควันดำด้วย นอกจากนั้น ภาคเอกชนต้องร่วมกันกำกับดูแลคู่ค้าที่เป็นเครือข่ายการรับส่งสินค้าให้มีรถที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมทำงานและไม่มีควันดำ ในด้านการก่อสร้าง ภาครัฐจะต้องกำกับดูแลให้พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ในโซนที่มีค่ามลภาวะทางอากาศวิกฤติ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม มาตรการของภาครัฐในการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ และการห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ดีในช่วงวิกฤติ แต่อาจจะกระทบต่อระบบงานก่อสร้างตามโครงการต่าง ๆ ดังนั้น ขอให้รัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น การขยายเวลาก่อสร้างโครงการภาครัฐให้เป็นไปตามช่วงเวลาที่ต้องหยุดเดินรถเข้าเขตพื้นที่ที่กำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการก่อสร้างก็จะต้องดำเนินการตามแผน EIA อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้พื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ที่สร้างมลพิษทางอากาศ
นอกจากนั้น จะต้องรณรงค์ให้ผู้ประกอบการก่อสร้างมีการวางแผนและเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างที่มีความเหมาะสม โดยใช้ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (precast) และนำมาประกอบที่หน้างาน (prefab) เพื่อลดฝุ่นจากการขนส่งวัตถุดิบและการใช้เครื่องมือเครื่องจักรจำนวนรถบรรทุกดินหรืออุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนั้น ควรมีการล้างล้อรถบรรทุกเพื่อไม่ให้ดินโคลนตกหล่นบนถนน และมีการใช้สเปรย์ฉีดพ่นน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย
ในด้านมาตรการส่งเสริมพื้นที่สีเขียว เสนอให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้และภาษีที่ดินสำหรับเอกชนผู้ปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับมลพิษ
"หอการค้าไทยตระหนักว่า ปัญหามลพิษทางอากาศควรเป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น ภาครัฐอาจมีการเปิดช่องทางให้ประชาชน แจ้งข้อมูลข่าวสารการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยจะรณรงค์ให้ประชาชนใช้ Social Media เป็นเครื่องมือในการแจ้งข้อมูลและติดตามการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพื่อให้ภาครัฐนำข้อมูล Real time มาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป" นายกลินท์ระบุ
"ขอให้ประชาชนมีสติ ไม่ตื่นตระหนก และติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ โดยภาครัฐควรกำหนดหน่วยงานที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากกระแสข่าวออนไลน์ที่อาจสร้างความสับสนและผิดพลาดได้" นายกลินท์กล่าว
สำหรับสถานพยาบาล คลินิก โรงพยาบาล หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นสถานที่ดูแลป้องกันรักษาผู้ป่วย จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด โดยอาจจะเพิ่มจุดคัดกรองพิเศษเพื่อตรวจสอบผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ ทั้งนี้ หอการค้าไทยสนับสนุนแนวทางของสถานประกอบการประเภทโรงแรมในหลายจังหวัด ที่มีมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาพัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้มาใช้บริการอีกด้วย หรือในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวมาพักเป็นกลุ่มใหญ่ ก็อาจจะแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือให้มีหน่วยเคลื่อนที่มาตรวจสอบคัดกรอง
นอกจากนั้น ขอเสนอให้ภาครัฐจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ เช่น ชุด kit set ที่ประกอบไปด้วย หน้ากาก กระดาษทิชชูแบบพกพา และเจลล้างมือ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เด็กอนุบาล หรือผู้สูงอายุในชุมชนแออัด รวมทั้งผู้โดยสารในสถานีขนส่งมวลชนทางบกและทางน้ำ นอกจากนั้น ขอเสนอให้มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในรถบริการสาธารณะ เช่น รถประจำทาง หรือรถแท็กซี่ที่มารับผู้โดยสารในสนามบิน เป็นต้น
นายกลินท์ ยอมรับว่า จากปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนจะส่งผลต่อประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) หรือไม่นั้นคงต้องมีการประเมินอีกครั้งหนึ่ง และเชื่อว่าการท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย (ททท.) จะมีมาตรการออกมา และอยากเชิญชวนให้คนไทยช่วยกันท่องเที่ยวในประเทศไทยก่อน
นอกจากนี้ ไทยยังประสบปัญหาหลายเรื่อง ทั้งเงินบาทแข็งค่า, งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ยังล่าช้า แต่ยังมองเป็นโอกาส ถ้าหากสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างไว้ได้ เพราะต่างชาติยังมีความต้องการที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม มหาลัยหอการค้าไทย จะมีการประเมินตัวเลขจากผลกระทบจากปัญหาไวรัสโคโรน่า และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในวันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) อีกครั้ง
ด้านนายศรัณยู ชเนศร์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวถึงการแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า ในส่วนนโยบายภาครัฐถือว่าค่อนข้างสากล มีมาตรการรองรับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ดี ซึ่งไทยถูกจัดอันดับ 1 ใน 13 ประเทศชั้นนำที่สามารถดูแลการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
พร้อมทั้งฝากให้ภาครัฐช่วยดูแลและควบคุมราคาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายไวรัส ทั้งในส่วนของหน้ากาก N95 และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งเชื่อว่าความต้องการของหน้ากากมีเพิ่มเป็น 100 % ส่วนเรื่องราคาทราบว่าหน้ากากอนามัยมีการปรับขึ้นราคาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหน้ากาก N95 บางแหล่งจากราคา 90 บาท ปรับขึ้นเป็น 120 บาท
ด้านนพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลว่าคนไทยติดโรคนี้จากนักท่องเที่ยว แต่ช่วงที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยคนไทยที่ทำงานเป็นพนักงานสปาและเคยนวดให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีอาการเป็นไข้ แต่จากการตรวจอย่างละเอียดไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการขยายวงเฝ้าระวังคนไทยที่มีการติดต่อกับคนต่างชาติ เช่น พนักงานโรงแรม พนักงานร้านอาหาร ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ทราบธรรมชาติของโรคว่าถ้าหากมีการสัมผัสกับผู้ป่วยจะมีอาการติดเชื้อได้หรือไม่ หากไม่แน่ใจให้สังเกตอาการของตนเองภายใน 14 วัน และถ้าไม่มีไข้ก็ถือว่าปกติ แต่หากมีไข้ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป
ส่วนข้อกังวลว่าการสั่งนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนจะมีเชื้อไวรัสโคโรนาติดมากับหีบห่อและการขนส่งด้วยหรือไม่นั้น นพ.สุวินัย ชี้แจงว่า เชื้อโรคในอุณหภูมิปกติสามารถอยู่ได้ 3 วัน แต่ไทยเป็นเมืองร้อน เชื้อโรคจะตายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเมื่อสินค้าจากจีนมาถึงไทยก็สามารถทำความสะอาดด้วยการเช็ดกล่อง หรือใช้แอลกอฮอล์เช็ดได้