นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2562 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าแม้ว่าจะยังชะลอตัวแต่มีการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจด้านการผลิตสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัว โดยสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัว 4.9% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 12.6% ต่อปี นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัว 1.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งชะลอตัว -18.7% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -17.3% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.0 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าของไทยตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยชะลอตัวที่ -1.8% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัว -22.9% ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว -4.6% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัว -3.1% ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ -2.1% ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง
เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ -1.3% ต่อปี เป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกในหมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ทองคำ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่ม เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ยังขยายตัวได้ ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย พบว่า หลายประเทศมีการส่งออกชะลอตัวเช่นเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ 2.5% ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2562 ยังคงเกินดุล 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.93 ล้านคน ขยายตัว 2.5% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียขยายตัวถึง 12.4% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่ขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย และจีน
ขณะที่ภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัว -2.5% ต่อปี เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -4.3% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังชะลอตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.9% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5% ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 41.3% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ