นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ล็อตใหม่ ไม่เกิน 1 ล้านตันในปีนี้ ในช่วงที่ราคา LNG ตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนนำเข้า LNG อยู่ในระดับต่ำ โดยกฟผ.จะนำ LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ทั้งโรงไฟฟ้าบางปะกง ,โรงไฟฟ้าวังน้อย และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมได้ โดยเมื่อสรุปแผนได้แล้วก็จะนำเสนอต่อรมว.พลังงานพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ต่อไป
ทั้งนี้ หากแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบก็คาดว่าจะสามารถเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเร็วสุดราวเดือน พ.ค.-มิ.ย.63 ก่อนจะเริ่มนำเข้า LNG ล็อตใหม่มาใช้ได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้
กฟผ. เห็นว่าการเร่งรัดนำเข้า LNG จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศปรับสูงขึ้นกว่าคาดการณ์ไว้ โดย ล่าสุด ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 1-23 ม.ค.63 อยู่ที่ 11,940 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 5.94% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.62 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น โดยอุณหภูมิเฉลี่ย 23 วันของเดือน ม.ค.63 อยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส จากเดือน ม.ค.62 เฉลี่ยอยู่ที่ 32.1 องศาเซลเซียส ทำให้คาดว่าทั้งปี63 ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเติบโตราว 4% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจะเติบโตราว 2% จากปี 62 ที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า อยู่ที่ 197,700 ล้านหน่วย ขณะที่กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย คาดว่าจะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้เปิดประมูลนำเข้า LNG ปริมาณ 1.3 แสนตัน โดยนำเข้าล็อตแรกแล้ว 65,000 ตัน ในเดือนธ.ค.62 และเตรียมนำเข้าอีก 65,000 ตันในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมกบง.
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก (Global DCQ) ระหว่าง กฟผ.ที่จะรับซื้อก๊าซฯจากบมจ.ปตท.(PTT) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดส่งร่างสัญญาฯให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบความถูกต้อง คาดว่า จะสามารถลงนามสัญญาฯ กับ ปตท.ได้ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนปริมาณซื้อขายก๊าซฯ ภายใต้สัญญา Global DCQ เบื้องต้นจะอยู่ในกรอบ 3.5-5 ล้านตัน/ปี โดยมีอายุสัญญา 10 ปี (ปี 63-72) จากปัจจุบัน กฟผ. มีความต้องการใช้ก๊าซฯ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านตัน/ปี
ส่วนการจัดหาก๊าซฯ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่ล่าสุดรัฐบาลเร่งรัดให้ดำเนินการเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) เร็วขึ้น 2 ปีจากเดิมที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 70 และ 72 นั้น ขณะนี้กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ในการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้ ส่วนปริมาณความต้องการใช้ LNG นั้น เบื้องต้นคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน/ปี