คมนาคม ยืนยันเข้มเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา 29 สนามบินภูมิภาค, สั่งศึกษารูปแบบเหมาะสมหลัง AOT ขอบริหาร 4 สนามบิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 30, 2020 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า จากที่ ทย.ได้มีมาตรการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ของสนามบินภายใต้การกำกับดูแล ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพสูง ทั้งเครื่องมือ และบุคลากรที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐาน การทำความสะอาดพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รับทราบ ให้ปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าว

พร้อมยืนยันมาตรการของประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข คมนาคม พร้อมในการดูแลประชาชนในและป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งขณะนี้ กระแสข่าวต่างๆ ที่อาจจะมีประเด็นที่อาจทำให้เกิดความกังวลได้ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโคโรนา ส่วนกรณีที่มีนักท่องเที่ยวจีนจากเมืองอู่ฮั่น เดินทางมายังประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว 20,000 คน นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)ได้มอนิเตอร์ คนกลุ่มนี้อยู่แล้ว

ดังนั้น ประชาชนทุกคน ต้องร่วมมือกันเพราะจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่อยากให้สรุปรวมว่า ทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางของไวรัส จะมีเชื้อทุกคน เพราะว่าก่อนที่จะเข้าประเทศ สนามบินจะมีการตรวจสอบสแกน อย่างเข้มข้น หากพบว่าคนไหนมีสิ่งบ่งชี้ว่าจะไม่สบาย จะต้องคัดแยกและดำเนินการตามขั้นตอนทันที

"นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่าย และยังมีธุรกิจซัพพลายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอีกมากที่จะได้รับผลกระทบ หากจะปิดประเทศไม่ให้เข้ามาเลย ผลกระทบที่เกิดขึ้นกว่าจะสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจนักท่องเที่ยวให้กลับคืนมาใช้เวลาอีกนาน ควรแยกว่าอะไรเป็นปัญหา ซึ่งขณะนี้มีมาตรการรองรับหมดแล้ว"นายศักดิ์สยาม กล่าว

ในการบริหารสนามบินของ ทย.ทั้ง 29 แห่งนั้น จะต้องพิจารณากฎหมาย ระเบียบ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีที่บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท.จะขอบริหารสนามบินของ ทย.นั้น เป็นหนึ่งในแนวทาง โดยยังจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมทางที่เหมาะสมก่อน ซึ่งมี 3 รูปแบบ คือ จ้างบริหาร, โอน,หรือ ทย.บริหารเอง โดยจะพิจารณารูปแบบที่ดีที่สุด และมองไปถึงอนาคตด้วย

จากที่ทอท.แสดงความต้องการบริหารสนามบิน4 แห่ง ได้แก่ กระบี่,บุรีรัมย์,อุดรธานี,ตาก นั้น ในอนาคต อาจจะเพิ่มอีกได้ ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นความท้าทาย ของ ทย. และต้องปรับตัว เพราะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงของระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เนื่องจากมี รถไฟความเร็วสูง เข้ามาให้บริการในหลายพื้นที่ ทำให้การเดินทางภายในประเทศจะไม่เหมือนเดิม

นอกจากนี้ ให้ทย.ศึกษาในเรื่องการแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) ของสนามบินต่างๆ เข้ากองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งทั้งหมดต้องเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาสนามบิน

ทั้งนี้ ทย.มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มศักยภาพสนามบินระยะกลางและระยะยาว ภายใต้มาตรฐานที่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งมีหลายสนามบินที่จะต้องพัฒนาการให้บริการจากภายในประเทศเป็นระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ทย.กำลังหารือกับสายการบินต่างๆ เพื่อเปิดทำการบินเพิ่ม

นอกจากนี้ ให้ส่งเสริมการให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการในด้านต่างๆร้านค้า ร้านอาหารรวมถึงระบบอำนวยความสะดวกด้านขนส่งต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นในรูป Outsource เพื่อให้มีบริการที่ดีมากขึ้น ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และราคาค่าบริการที่เหมาะสม

นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า ปัจจุบันมี สนามบินที่มีสายการบินระหว่างประเทศทำการบิน 3 แห่งได้แก่ กระบี่,สุราษฎร์ธานี และหัวหิน โดยที่ผ่านมาได้มีการเปิดเส้นทางบินใหม่ระหว่างประเทศ ได้แก่ (ดูไบ-ย่างกุ้ง-กระบี่) ไป/กลับ จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเริ่มทำการบิน เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.62 และเส้นทางใหม่ระหว่างประเทศ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาและพิจารณาแผนเปิดทำการบินกับสายการบินเมียนมาร์ (AIR KBZ) คือ เส้นทาง ย่างกุ้ง-แม่สอด) จำนวน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ