นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.63 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ประกอบธุรกิจในประเทศไทยรวม 25 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งนำเงินเข้ามาลงทุนกว่า 912 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทย 260 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.63 มีจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 4% จากเดือน ธ.ค.62 โดยมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานของบริษัทในเครือในกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ธุรกิจที่ส่งเสริมตลาดทุน รวมถึงประกอบธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้เข้ามาลงทุนครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 14 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น เยอรมนี และสก๊อตแลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 678 ล้านบาท ได้แก่ บริการรับจองระวางเรือหรือระวางเครื่องบินสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลและทางอากาศ, บริการฝึกอบรมวิธีการซ่อมแซม การบำรุงรักษารถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่, บริการให้คำปรึกษา แนะนำและบริหารจัดการงานด้านการตลาด ด้านธุรการ ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านการตรวจสอบควบคุมภายใน, กิจการตัวแทนในการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า
2.ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 4 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และอินโดนีเซีย มีเงินลงทุนจำนวน 35 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต, การค้าส่งรองเท้ากีฬาและรองเท้าผ้าใบ, การค้าส่งชิ้นส่วนของระบบกันสะเทือน (Damper) สำหรับรถจักรยานยนต์, การค้าส่งไอศกรีม โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์นม
3.คู่สัญญากับเอกชน จำนวน 2 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ และเบลเยี่ยม มีเงินลงทุนจำนวน 161 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหา ก่อสร้าง และติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการก่อสร้างโรงแรม, บริการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำและแอ่งจอดเรือที่บริเวณท่าเทียบเรือ
4.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากมาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีเงินลงทุนจำนวน 38 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาแนะนำทางวิศวกรรม บำรุงรักษา ซ่อมแซม รวมทั้งการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์, บริการเป็นผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน อาคารสำนักงานและอาคารเก็บสินค้าบางส่วน รวมทั้งห้องปฏิบัติการที่ใช้สำหรับทดสอบสีและเคมีภัณฑ์, บริการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง และบริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่ง ประเภทไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง
นายวุฒิไกร กล่าวว่า การอนุญาตครั้งนี้มีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในกระบวนการขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบกันสั่นสะเทือนสำหรับรถจักรยานยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ Cargowise เพื่อการจัดการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขึ้นรูป การอบร้อน และการพ่นชุบเคลือบสีของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต เป็นต้น