ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.25% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในจังหวะเวลาพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คณะกรรมการฯ ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่ามีความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทางเลือกในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมี 2 แนวทาง ได้แก่ ทางเลือกแรก พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนก.พ. ลง 0.25% และพิจารณาปรับลดเพิ่มเติมในการประชุมรอบเดือนมี.ค. อีก 0.25% หรือ ทางเลือกที่สอง พิจารณาปรับลดลงในคราวเดียวกันได้ถึง 0.50% จากระดับปัจจุบันที่ 1.25% มาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี
เนื่องจากในไตรมาสแรกของปี 2563 ประเด็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มเติมมาในจังหวะเวลาที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มีแนวโน้มล่าช้าในการบังคับใช้ ทำให้เครื่องมือทางการคลังจะยังไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มที่ จึงต้องอาศัยนโยบายการเงินให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าล่าสุดที่แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แต่ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไปแล้วในช่วงเดือนม.ค. และ ก.พ. 2563 ซึ่งประเมินว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะหายไปไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.5% ของ GDP นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภาวะภัยแล้งที่กดดันกำลังซื้อของเกษตรกร และการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังต้องรอเม็ดเงินใหม่ๆ จากงบประมาณประจำปี 2563
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเผชิญความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าที่ยังส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลกลดลง แม้ว่าจะมีการลงนามข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไปเมื่อ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็จะไม่ได้ช่วยสร้างบรรยากาศการค้าโลกที่เป็นบวกขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ทิศทางค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยค่าเงินบาทในปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 31.2 เทียบกับระดับสิ้นปี 2562 ที่ 29.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในด้านหนึ่งก็จะเป็นการช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของไทยลง แต่ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนในปี 2563 ก็คาดว่า จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 5.5%-5.9% นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจอื่นๆ ที่พึ่งพิงการส่งออก-นำเข้าจากจีนสะดุดไปด้วย ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว การอ่อนค่าลงของเงินบาทอาจจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการเลือกขนาดและจังหวะเวลาในการปรับลดดอกเบี้ย หรือการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เข้ามาเสริม ซึ่งการตัดสินใจในแต่ละทางเลือกคงขึ้นอยู่กับการประเมินภาพสถานการณ์เศรษฐกิจไทยถึงความจำเป็นและเร่งด่วน รวมถึงการชั่งน้ำหนักของผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบคอบ