นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2563 เห็นชอบมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากผลกระทบการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019
สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่ การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและยืดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้หรือดอกเบี้ย 6 เดือนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว, การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน, การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงของอากาศยาน, การสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดประชุมสัมมนาในต่างพื้นที่เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ, การหาตลาดทดแทนที่มีศักยภาพ เป็นต้น
สำหรับมาตรการระยะยาวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ การปรับปรุงบริการ การอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทย, การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพ และการบริการด้านการท่องเที่ยว, การสนับสนุน Charter Flight สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูง และการขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืน โดยนำร่องเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว (Zoning) คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป
ผู้ว่าการ ททท.ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ได้ส่งผลกระทบทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงถึง 80% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 95,000 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2563 นั้น จะพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ที่ 41.8 ล้านคน
ด้านกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะช่วยดูผลกระทบของสายการบิน โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี โดยจะนำเสนอ ครม.ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจวันนี้ ยังอนุมัติหลักการให้มีการเพิ่มเขตพัฒนาด้านภาคตะวันตกด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการสร้างกระดูกสันหลังเพิ่มเติมในแต่ละภาค เช่น การเพิ่มเส้นทางการเดินรถมากขึ้น
ขณะเดียวกัน จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก และจะมีการแก้ไขกฏหมายให้ EEC ให้สามารถเข้าไปดูเขตเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ได้ทั้งหมด รวมถึงเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน
"ในอนาคตจะมีบอร์ดเดียวเลย ดูเขตเศรษฐกิจทั้งประเทศไทย บอร์ด EEC ก็เป็นบอร์ดใหญ่" นายกอบศักดิ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับความความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เน้นเรื่องการพัฒนาด้านดีไซน์ แฟชั่น รวมถึงอุตสาหกรรมซอฟแวร์ ที่ตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนา เขตพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการพัฒนาไบโออิโคโนมีเป็นหลัก และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน