นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีโอกาสขยายตัวได้ต่ำกว่า 2.5% ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทบทวนใหม่ใน มี.ค.2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนขึ้น ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีตามปัจจัยพื้นฐานด้านรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังอ่อนแอ แม้จะมีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วน การชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากไตรมาสก่อนตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสด สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลทรงตัว ขณะที่จ่านวนผู้มีงานท่าปรับดีขึ้นเล็กน้อย ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์
"เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2562 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง แม้จะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในเดือน ธ.ค.โดยการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี"
นายดอน กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนธ.ค.62 พบว่าปรับตัวดีขึ้นบ้าง โดยการส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวน้อยลง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง หลังผลของฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตในปีก่อนหมดไป
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมปรับตัวดีขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์ และด้านหนี้สิน สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 1.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลงจากเดือนก่อนที่หดตัวสูงถึง 7.7% จาก 1) มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่หดตัวลดลง หลังโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งที่ปิดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้าทยอยกลับมาดำเนินการตามปกติ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้น 2) การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่กลับมาขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงก่อนหน้า 3) การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ขยายตัว ตามวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และ 4) ผลดีชั่วคราวจากเทศกาลตรุษจีนที่มาเร็วกว่าปีก่อน ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่น้อยลงสอดคล้องกับภาคการส่งออก
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัว ขณะที่ยอดขายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์ยังคงหดตัวสูง สำหรับเครื่องชี้การลงทุนหมวดก่อสร้างกลับมาขยายตัวได้ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ และวันหยุดยาวในเดือน ธ.ค.ปีนี้ที่มากกว่าปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนกลับมาขยายตัวตามการนำเข้าหมวดเครื่องนุ่งหุ่มเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่องตามยอดขายรถยนต์ สอดคล้องกับปัจจัยด้านรายได้ของลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ รวมทั้งสถาบันการเงินที่ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนหลังคุณภาพสินเชื่อด้อยลง
มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาขยายตัวที่ 1.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะ 1) การนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวตามการน่าเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ และโทรศัพท์มือถือเป็นสำคัญ 2) การนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่ขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกลับมาดำเนินการตามปกติของโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งที่ปิดซ่อมบำรุงไปในช่วงก่อนหน้า และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น และ 3) การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวที่ 2.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa On Arrival (VOA) ที่มีส่วนท่าให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และไต้หวันขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นยังขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ นักท่องเที่ยวลาว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากฐานจ่านวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตหมดลง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวน้อยลงตามรายจ่ายประจำ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวสูงขึ้น โดยรายจ่ายประจำในส่วนของการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางได้รับผลจาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้อย่างไรก็ดี รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.87% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่หดตัวน้อยลงเป็นสำคัญ หลังราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่จำนวนผู้มีงานท่านอกภาคเกษตรกรรมปรับดีขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิทั้งจากด้านสินทรัพย์ตามการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์และด้านหนี้สินตามการถอนการลงทุนโดยตรงในธุรกิจธนาคารของนักลงทุนต่างชาติ หลังมีการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ไทย
นายดอน กล่าวว่า ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโคโรนา กระทบต่อการท่องเที่ยวชะลอตัวลง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมและนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาส 1/2563 จะติดลบ รวมทั้งจะกระทบต่อการบริโภคในประเทศทำให้คนไม่กล้าใช้จ่าย และการส่งออกในบางสินค้า เช่น ผลไม้ รวมทั้งความล่าช้าของงบประมาณ 2563 ที่กระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐและส่งผลต่อไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่ง ธปท.คาดว่าถ้าเหตุการณ์ทั้ง 2 ปัจจัยไม่คลี่คลายภายใน 2 เดือน หรือเข้าสู่ภาวะปกติใน เม.ย. เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะชะลอรุนแรงตัวกว่าที่คาด
"กนง. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. ซึ่งเดิมคาดว่าในปี 2563 จะขยายตัว 2.8% โดยไม่ได้รวม 2 ปัจจัยนี้ไว้ ซึ่งส่งผลต่อประมาณการที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2563 เดิมมองว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 2% แต่ถ้ารวมปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่องดังกล่าว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2563 ลงลึกแน่นอน" นายดอนระบุ