นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการ "ชิมช้อปใช้" ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการในวันที่ 27 กันยายน 2562 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 11,802,073 คน จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิเข้าร่วมมาตรการ 14,354,159 คน ซึ่งมียอดการใช้จ่ายรวม 28,820 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 11,672 ล้านบาท และการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ประมาณ 17,148 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ซึ่งเป็นเงินของประชาชนเองอยู่ที่ 60% มีสัดส่วนมากกว่า g-Wallet ช่อง 1 ซึ่งเป็นส่วนของแรงจูงใจจากภาครัฐ โดยจากร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการทั้งหมดกว่า 170,000 ร้านค้า ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรการที่ต้องการให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในร้านค้าชุมชนโดยมีการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่เพียง 8% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด
นอกจากนี้ การใช้จ่ายได้มีการกระจายไปครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเป็นการใช้จ่ายในเมืองรองมากกว่าในเมืองหลักคิดเป็นสัดส่วน 60% หรือมูลค่ามากถึง 17,000 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบยอดการใช้จ่ายต่อวันต่อคนพบว่า มีการใช้จ่ายในเมืองรองมากกว่าเมืองหลักทั้ง g-Wallet ช่อง 1 และ 2 และเฉพาะในเมืองรองพบว่าการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 มีมากกว่า g-Wallet ช่อง 1 ถึง 16 เท่า โดยมียอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะการเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในจังหวัดอยู่ที่ 41,983 ล้านบาท ขยายตัว 5.4% ต่อปี สะท้อนว่า มาตรการชิมช้อปใช้มีส่วนช่วยพยุงการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรการ อีกทั้งผลทางอ้อมของมาตรการนี้ได้สร้างการเรียนรู้และความคุ้นชินในการทางเทคโนโลยีทางการเงินให้แก่ประชาชนมากขึ้นด้วย