นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปีนี้กรมสรรพากรได้ออกมาตรการพิเศษในการขยายเวลาการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด. 90/91 ทั้งการยื่นภาษีแบบออนไลน์ และการยื่นภาษีแบบกระดาษ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา จากเดิมที่จะสิ้นสุดภายในเดือนมีนาคมนี้ ออกไปอีก 3 เดือน เป็นสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียภาษี และจะเป็นการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบในช่วงที่งบประมาณประจำปี 2563 มีความล่าช้า และเพื่อลดผลกระทบของผู้ยื่นภาษีบางส่วนที่จะต้องนำเงินมาชำระภาษีเพิ่มในปีนี้ได้ด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้เสียภาษีที่ต้องการขอคืนภาษี ยังสามารถยื่นแบบชำระภาษีเข้ามาได้ตลอด โดยในปีนี้ผู้ที่ยื่นภาษีเร็ว ก็จะได้ภาษีคืนเร็ว หากเอกสารครบถ้วน ซึ่ง ณ เวลานี้มีผู้ขอคืนภาษีเข้ามาแล้วกว่า 7 แสนราย และได้เงินคืนไปแล้วกว่า 5 แสนราย หรือ 73% ของผู้ที่ขอคืนทั้งหมด ซึ่งกรมสรรพากรใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการคืนภาษีประชาชนอยู่ที่ 3-7 วันเท่านั้น โดยเป็นการคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์มากกว่า 90% เนื่องจากมีความสะดวก และรวดเร็วกว่า
สำหรับมาตรการภาษีอื่น ๆ ที่กรมสรรพากรจะนำมาใช้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยว และจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ให้กับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่เป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนา รวมทั้งรายจ่าย ที่จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่มัคคุเทศก์นำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาให้แก่ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ 2 เท่า
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ทำการซ่อมแซม หรือปรับปรุงตัวอาคารให้ดีขึ้น โดยผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่เกิดจากการต่อเติมเปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นของอาคาร มาหักรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงได้อีกด้วย
นางสมหมาย คาดว่ามาตรการหักค่าลดหย่อนอบรมสัมมนา 2 เท่า จะมีผู้ใช้สิทธิ 1 พันราย มีรายจ่าย 435 ล้านบาท สูญเสียรายได้ 87 ล้านบาท ส่วนมาตรการหักค่าลดหย่อนปรับปรุงสถานประกอบการ 2 เท่า คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ปีละ 120 ล้านบาทต่อ รวม 20 ปี คิดเป็น 2.4 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่ม 2.4 หมื่นล้านบาท ยอดการลงทุนเพิ่มขึ้น 1 พันราย
ขณะที่มาตรการเลื่อนเวลายื่นแบบเสียภาษีเงินได้เป็น 30 มิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับปีภาษี 2561 ที่ยื่นแบบเสียภาษีในปี 2562 รวม 11.7 ล้านราย มีการขอคืนภาษี 3.7 ล้านราย เหลือ 7 ล้านรายที่มีการเสียภาษีเพิ่มและไม่มีภาระภาษี ในส่วนนี้มีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินส่วนนี้ใช้จ่ายในระบบเพิ่มเติมในช่วงยืดเวลาชำระภาษีออกไปอีก 3 เดือน ส่วนผู้ที่ยื่นแบบภาษีทางอินเทอร์เน็ต ให้ยื่นภายใน 30 มิถุนายน 2563 ไม่มีการขยายเวลาให้อีก ส่วนผู้ที่ไม่มีภาระภาษีเพิ่มเติมและต้องการภาษีคืน สามารถยื่นได้ทันที และจะได้เงินภาษีคืนภายใน 3 วัน
"กรมสรรพากรเชื่อว่า การขยายเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมสิ้นสุดที่เดือนมีนาคม เป็นเดือนมิถุนายน 2563 จะช่วยให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนมากขึ้น อีกทั้งมาตรการภาษีต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงนี้ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนภายในประเทศ และบรรเทาผลกระทบจากการท่องเที่ยวซบเซาในปี 2563 ได้ โดยกรมสรรพากรยังมีแผนที่จะออกมาตรการภาษีในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น มาตรการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ซึ่งจะช่วยเสริมทั้งในด้านสังคม และตลาดแรงงานในประเทศที่ยังขาดแคลน โดยไม่ต้องพึ่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง" นางสมหมายกล่าว