หลายสำนักวิจัยส่วนใหญ่ ต่างคาดการณ์ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2563 ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมเชิงลบ
SCB EIC ลด 0.25% 1.00% BAY ลด 0.25% 1.00% CIMBT ลด 0.25% 1.00% ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลด 0.25-0.50% 1.00-0.75% KTB คงดอกเบี้ย 1.25% นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เชื่อว่า มีโอกาสที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาเหลือ 1% ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาและงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้า "เรื่องทิศทางดอกเบี้ยยังมีความไม่แน่นอน ด้านหนึ่งน่าจะมองว่าถ้าจะลดก็เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินให้สนับสนุนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลาย Sector ที่ได้รับผลกระทบ เช่น การท่องเที่ยว แต่ถ้าจะไม่ลดก็คือให้ดูสถานการณ์ให้ชัดเจนไปอีกระยะหนึ่ง ตอนนี้มีความไม่แน่นอนสูงว่าความยาวนานของผลกระทบ จะควบคุมสถานการณ์ได้เร็วหรือช้าแค่ไหน แต่คิดว่าโอกาสลดดอกเบี้ยน่าจะมีมากกว่า อาจจะมากกว่าครึ่ง" นายยรรยง กล่าว น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า มีโอกาสที่กนง. รอบนี้จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ลงสู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่ท่ามกลางความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจที่กระทบความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญแม้ประสิทธิผลอาจจำกัดจากระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ต่ำมากแล้ว สาเหตุของการลดดอกเบี้ยในรอบนี้ คือ ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ระยะหลังเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งงบประมาณที่ล่าช้าออกไปหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) จำนวน 3 คำร้องว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ "ธปท.อาจจะมีการใช้เครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ"น.ส.รุ่งกล่าว อย่างไรก็ดี หาก กนง.เลือกที่จะคงดอกเบี้ยไว้เพื่อรอดูข้อมูลในระหว่างนี้ เราเชื่อว่าเสียงที่จะลงมติว่าไม่ให้ลดดอกเบี้ยในรอบนี้ อาจจะให้ความเห็นว่าให้ไปลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้าเดือนมี.ค.แทน ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 อาจเติบโตต่ำกว่าประมาณการเดิมของธปท.ที่ 2.5% ส่วนในปี 2563 การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและความล่าช้าของงบประมาณจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการของธปท.ที่ 2.8% ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบมากที่สุดจะปรากฎชัดในไตรมาสแรกของปี ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจแคบลงจากรายได้การท่องเที่ยวที่จะสะดุดลงซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท อนึ่ง เราประเมินว่าเมื่อสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายลง เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวลักษณะ V-shaped เช่นกัน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้ และอีก 0.25% ในรอบหน้า เพราะไม่ใช่แค่ไวรัสโคโรนา แต่ยังเป็นเรื่องของนโยบายการคลังที่หยุดชะงักไป ปัญหาภัยแล้ง "ปัจจัยที่แรงที่สุดคือไวรัสโคโรนา เพราะธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง อีกทั้งอยู่ในช่วงปรับประมาณการเศรษฐกิจซึ่งตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่มีโอกาสสูงที่ GDP ปีนี้จะโตต่ำกว่า 2.7% ซึ่งการลดดอกเบี้ยน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในยามนี้หรือไม่ แต่อย่างที่ยุคท่านประสาร (อดีตผู้ว่าฯ ธปท.) ระบุว่าถ้านโยบายการคลังไม่สามารถเป็นกองหน้าได้ก็ต้องเอานโยบายการเงินที่เป็นกองหลังขึ้นมา" นายอมรเทพ กล่าวว่า ไตรมาสที่ 1 มีโอกาสที่ GDP จะต่ำกว่า 2% แต่ก็มองว่าทั้งปัญหาไวรัส ปัญหางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เป็นปัญหาชั่วคราวไม่นานก็จบ โดยคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ นักท่องเที่ยวน่าจะกลับมาไตรมาส 3 ส่วนงบประมาณน่าจะผ่านปลายไตรมาส 2 "ปีที่แล้ว GDP จีนโต 6% ส่วนปีนี้มาโดนหนักแบบนี้ บางคนบอกจีนน่าจะโต 4% เลวร้ายสุดคือโต 2% ก็ดึงความต้องการตลาดโลกลด การส่งออกเราที่คิดว่าจะฟื้นก็อาจจะไม่ฟื้น ผมว่าปีนี้เราเจอปัจจัยแวดล้อมเยอะ แต่ก็เป็นปัจจัยชั่วคราว ถ้าเราตั้งรับได้ดี เดี๋ยวเราก็สามารถฟื้นได้"นายอมรเทพ กล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 5 ก.พ.นี้ ทางเลือกในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมี 2 แนวทาง ได้แก่ ทางเลือกแรก พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนก.พ. ลง 0.25% และพิจารณาปรับลดเพิ่มเติมในการประชุมรอบเดือนมี.ค. อีก 0.25% หรือ ทางเลือกที่สอง พิจารณาปรับลดลงในคราวเดียวกันได้ถึง 0.50% จากระดับปัจจุบันที่ 1.25% มาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี เนื่องจากในไตรมาสแรกของปี 2563 ประเด็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มเติมมาในจังหวะเวลาที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มีแนวโน้มล่าช้าในการบังคับใช้ ทำให้เครื่องมือทางการคลังจะยังไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มที่ จึงต้องอาศัยนโยบายการเงินให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาล่าสุดที่แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แต่ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไปแล้วในช่วงเดือนม.ค. และ ก.พ. 2563 ซึ่งประเมินว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะหายไปไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.5% ของ GDP นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภาวะภัยแล้งที่กดดันกำลังซื้อของเกษตรกร และการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังต้องรอเม็ดเงินใหม่ๆ จากงบประมาณประจำปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการเลือกขนาดและจังหวะเวลาในการปรับลดดอกเบี้ย หรือการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เข้ามาเสริม ซึ่งการตัดสินใจในแต่ละทางเลือกคงขึ้นอยู่กับการประเมินภาพสถานการณ์เศรษฐกิจไทยถึงความจำเป็นและเร่งด่วน รวมถึงการชั่งน้ำหนักของผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบคอบ นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) คาดว่า กนง.รอบนี้น่าจะยังคงดอกเบี้ยเอาไว้ตามเดิม เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าความเสี่ยงจากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน ยังพอมีเวลาที่พิจารณาต่อไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับมีการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินให้ออกมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบน่าจะเหมาะสมกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ซึ่งถ้าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอาจจะต้องรอดูผลกระทบมากกว่านี้อีกสักหน่อย หรืออาจจะเป็นการตัดสินใจในรอบการประชุมเดือนมี.ค.63 ทั้งนี้ มองว่า ถ้าถึงเดือนมี.ค.ทั้งเรื่องไวรัสโคโรนาและงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ล่าช้าออกไปยังไม่มีเรื่องไหนคลี่คลายเลยการประชุม กนง.รอบเดือนมี.ค.น่าจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยแน่นอนในอัตรา 0.25% ซึ่งมีความเหมาะสม "เรามองว่ามาตรการที่ ธปท.ขอความร่วมมือให้พักชำระหนี้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบน่าจะเพียงพอสำหรับแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อนได้ แต่ถ้าพูดถึงการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเศรษฐกิจในภาพรวมเราคาดว่าอาจจะมีเวลาพอที่จะดูอีกสักนิด.. ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าไม่น่าเกิน 3 เดือน คือ 2 เดือนแล้วสถานการณ์เริ่มคลี่คลายอัตราการติดเชื้อเริ่มลดลงแล้วหรือชะลอตัวลงก็อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเท่าไหร่ แต่ถ้าภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้เหตุการณ์ต่างๆไม่คลี่คลายค่อนข้างแน่ชัดว่ารอบหน้า กนง.ลดดอกเบี้ยแน่นอน"