น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางปฏิบัติการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government: G to G) เพื่อแก้ปัญหา G to G ปลอม ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) เสนอ เพื่อให้การทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐมีความน่าเชื่อถือและโปร่งใสมากขึ้น และสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการค้าข้าวของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลของประเทศที่จะทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทยจะต้องเป็นหน่วยงานรัฐบาลหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดำเนินการแทนรัฐบาลเท่านั้น เว้นแต่บางประเทศมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวเพียงหน่วยงานเดียว
"เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะบางประเทศเจาะจงที่จะซื้อข้าวจากรัฐบาลเท่านั้น" น.ส.รัชดา กล่าว
โดยในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขาย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้เจรจาหรือเข้าร่วมการประมูลแบบ G to G และลงนามทำสัญญาซื้อขายข้าวในนามรัฐบาลไทย ซึ่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศต้องนำสาระการเจรจาเสนอปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ นบข. พิจารณาให้ความเห็นชอบการเสนอขาย การเจรจาต่อรองราคา การตกลงเงื่อนไขในสัญญา แนวทางจัดหาข้าวเพื่อส่งมอบ ก่อนการดำเนินการ
"เป็นการป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องนี้" น.ส.รัชดา กล่าว
รองโฆษกฯ กล่าวว่า ในกรณีที่ข้าวในสต็อกของรัฐบาลไม่เพียงพอ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาข้าวเพิ่มเติมและส่งมอบตามสัญญา และกรณีรัฐบาลไม่มีข้าวในสต็อกที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาและส่งมอบข้าวตามสัญญา
สำหรับการชำระเงินต้องเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น การเปิด Letter of Credit (L/C) และการโอนเงินระหว่างประเทศ (Telegraphic Transfer: T/T) เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบที่มาของเงินได้ โดยมีเอกสารหลักฐานการทำธุรกรรมทางการเงินจากธนาคารทั้งของไทยและธนาคารของประเทศคู่ค้า
ส่วนการส่งมอบข้าวนั้น รัฐบาลไทยจะต้องมีการส่งออกข้าวไปประเทศคู่ค้าจริง โดยมีหลักฐานสำคัญคือ ใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแบบ อ.2 (สินค้าข้าว) ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศที่ระบุว่าเป็นการส่งออก "ข้าวรัฐบาล"