การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท มารูเบนิ จำกัด ลงนามความร่วมมือนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสนับสนุนการทำงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 ในจ.ลำปาง เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดหาเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อนำมาใช้พัฒนางานด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตไฟฟ้า ลดต้นทุนในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้จะช่วยสนับสนุนการทำงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อาทิ การเชื่อมต่อข้อมูลเดินเครื่องและบำรุงรักษาด้วยระบบ IoT การนำ AI มาวิเคราะห์และช่วยปรับปรุงค่า Heat Rate การใช้ระบบติดตามเพื่อตรวจจับความผิดปกติซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และระบบวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านการเงิน ความเสี่ยง และโอกาสในการผลิต
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้มีกรอบระยะเวลา 3 ปี ได้แก่ ปี 63 เป็นการติดตั้งระบบ และในปี 64-65 จะเป็นการทดสอบใช้งานจริง โดยกำหนดเป้าหมายเมื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้งานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 0.45%
สำหรับโครงการความร่วมมือนี้ เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของบริษัท มารูเบนิ จำกัด และองค์การ เนโดะ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ "โครงการสนับสนุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและการตลาดของภาคเอกชน" โดยเล็งเห็นว่า รัฐบาลไทย มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าโดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่ยังเดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้กฟผ. ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศไทยควบคู่กับการดูแลใส่ใจสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว จึงสนใจการนำเทคโนโลยีมาใช้ ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไป
ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 มีกำลังการผลิตหน่วยละ 300 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังผลิตทั้งสิ้น 600 เมกะวัตต์ โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองที่อยู่ในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้ามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า