ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค.63 อยู่ที่ 67.3 จากเดือน ธ.ค. 62 ที่อยู่ในระดับ 68.3 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในรอบ 69 เดือน สาเหตุมาจากความกังวลการระบาดไวรัสโคโรนา และงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ม.ค.อยู่ที่ 54.9 ลดลงจากเดือน ธ.ค.62 ที่อยู่ในระดับ 56.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 63.8 จาก 64.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 83.0 จาก 84.2
โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 62 เหลือ 2.5% จากเดิมที่คาด 2.8% รวมถึงปรับลด GDP ปี 63 ลงจาก 3.3% เหลือ 2.8%, การส่งออกในเดือนธ.ค. ลดลง -1.28%, ความกังวลต่อการบังคับใช้งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ล่าช้า, ปัญหาภัยแล้ง, ความกังวลปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5, ราคาพืชผลเกษตร ยังอยู่ในระดับต่ำ และผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว
ขณะที่ปัจจัยบวกในเดือนนี้มีเพียงราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับลดลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.63 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 69 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ (ระดับ 100) ซึ่งแสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก
"การที่ดัชนีฯ ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกรายการจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง และกังวลกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเชิงลบในอนาคต อีกทั้งผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง" นายธนวรรธน์ ระบุ
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น จากการสำรวจในช่วงเดือน ม.ค.63 ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เพียงแต่ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่าจะยืดเยื้อหรือรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อและไม่รุนแรงก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้
นายธนวรรธน์ มองว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.63 นี้ อาจยังไม่สะท้อนความกังวลที่แท้จริงของผู้บริโภคต่อเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาได้ชัดเจนมากนัก แต่เชื่อว่าในเดือน ก.พ.ผลสำรวจจะสะท้อนมุมมองของผู้บริโภคได้ชัดเจนมากขึ้นว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความกังวลที่มีต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด
"กรณีไวรัสโคโรนาเข้ามาเป็นปัจจัยลบในช่วงปลายๆ เดือนมกราคม ต่อจากเรื่องงบประมาณล่าช้า ดังนั้นจึงยังไม่มี Impact ในเดือนมกราคม ดังนั้นดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนนี้ยังไม่สะท้อนความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนาอย่างแท้จริง แต่ตัวเลขจะปรากฎชัดเจนในการสำรวจช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะในช่วงนั้นยอดการแพร่ระบาดน่าจะเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นภาวะปกติของการแพร่ระบาดของโรค แต่การเสียชีวิตยังไม่สูง ดังนั้นเชื่อว่าในเดือนกุมภาพันธ์ นานาชาติน่าจะเริ่มคลายกังวล ตลาดหุ้น ราคาน้ำมันคงจะเริ่มนิ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นตัวบอกได้ชัดเจนว่ามันบั่นทอนเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ในมุมมองของผู้บริโภคแค่ไหน และสร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตมากน้อยแค่ไหน เราเชื่อว่าดัชนีฯ อาจจะลงต่อ แต่อยากรู้ว่าจะลงหนักแค่ไหน" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณการเติบโตที่ไม่โดดเด่น ประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน รถยนต์ ท่องเที่ยว รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ ที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ในช่วง 2-3 เดือน คิดเป็นมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจราว 2.2 แสนล้านบาท (รวมทั้งกรณีของไวรัสโคโรนา, งบประมาณปี 63 ล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง) ส่งผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ให้มีโอกาสลดลงราว 1.3% จากล่าสุดที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดประมาณการในโอกาสต่อไป