ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดระยะสั้นภาคธุรกิจรับผลกระทบไวรัสโคโรนาเกือบ 2 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 7, 2020 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำการสำรวจ "พฤติกรรมของคนไทยกับการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา และผลต่อภาคธุรกิจต่างๆ" โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 1,200 คน พบว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้หันมาให้ความสำคัญในการป้องกันและดูแลสุขภาพ สะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนผู้สวมใส่หน้ากากอนามัย ในสถานที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ ภูเก็ต และเชียงใหม่ เป็นต้น และจากผลสำรวจการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพและการป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 70% มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ของคนไทยในช่วงเวลา 1-3 เดือนนี้ อาจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,200-2,500 ล้านบาท

การปรับพฤติกรรมของคนไทย ยังอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ ในช่วง 1-3 เดือนในมิติที่ต่างกัน นอกจากค่าใช้จ่ายในการป้องกันและดูแลตนเองแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยในบางด้านจะส่งผลทางลบต่อภาคการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือนนี้ ซึ่งผลกระทบจะสะท้อนออกมาในมิติต่างๆ คือ

สำหรับผู้ที่มีแผนการเดินทางท่องเที่ยวอยู่แล้วจะมีการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนหนาแน่น ขณะที่ผู้ที่ยังไม่ได้วางแผนเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะงดการเดินทางชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ส่วนผู้ที่ยังมีความต้องการเดินทางอยู่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปยังจังหวัดที่ไม่มีข่าวพบผู้ติดเชื้อ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับพฤติกรรมดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในประเทศผ่านรายได้ที่สูญเสียไปจากการเลื่อน/ชะลอการเดินทางชั่วคราวของคนไทยเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือนนี้ เป็นมูลค่าประมาณ 13,100-17,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.0%-6.5% ของรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงปกติ (การประเมินนี้ยังไม่รวมผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ)

ผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ เช่น ค้าปลีกและร้านอาหาร ยังจำกัด โดยประชาชนลดความถี่ในการออกนอกบ้านแต่ยังบริโภคใกล้เคียงช่วงปกติ จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกและการบริโภคอาหาร ด้วยการลดความถี่ในการออกนอกบ้านโดยเปลี่ยนมาซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกต่อครั้งในปริมาณที่มากขึ้นใช้เวลาเลือกซื้อน้อยลง และมีบางกลุ่มเลือกซื้อในร้านค้าปลีกที่คนไม่แออัดหรือพลุกพล่าน ขณะเดียวกันก็ซื้ออาหารสำเร็จรูป/ทำอาหารทานที่บ้านมากขึ้น เลือกร้านอาหารที่คนไม่หนาแน่น และบางส่วนหันมาสั่งอาหารที่มีบริการจัดส่งทดแทนการออกไปทานอาหารนอกบ้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่าผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารในภาพรวมจากการใช้จ่ายของคนไทยอาจยังอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยผู้ประกอบการบางรายอาจจะได้รายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายอาจจะได้รายได้ลดลงจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ การที่กลุ่มตัวอย่างหันมาซื้ออาหารสำเร็จรูป/ทำทานที่บ้านหรือการสั่งอาหารที่มีบริการจัดส่ง (เดลิเวอรี่/ออนไลน์) นอกจากนี้ ผลกระทบยังมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคคนไทยที่ลดลงเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการด้านการส่งอาหาร/สินค้า รวมถึงบรรยากาศของข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่มีผลต่อการออกไปรับประทานอาหารและจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน ดังนั้น คาดว่า ในช่วง 1-3 เดือนนี้ ผลกระทบต่อรายได้สุทธิในธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารที่จะสูญเสียไปอาจมีมู ลค่าราว 900-1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.02%-0.04% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ การกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ประชาชนให้น้ำหนักกับการมีวิธีการรักษาโรค/วัคซีนป้องกัน มากที่สุด

ความกังวลต่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันในบางด้านในช่วงเวลานี้ ประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติเมื่อมีวิธีการรักษาโรค/วัคซีนป้องกันโรคมีมาตรการป้องกันที่สร้างความเชื่อมั่นจากภาครัฐ, การไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เป็น 3 สถานการณ์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนักมากที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การมีมาตรการป้องกันและดูแลสุขภาพของประชาชนโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและลดทอนผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนและภาคธุรกิจได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ