คมนาคม เร่ง BTS - MRT ใช้ตั๋วร่วมภายในมิ.ย.นี้ ห่วงแอร์พอร์ตลิงก์ล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 11, 2020 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการดำเนินการระบบตั๋วร่วม ในระยะเร่งด่วนในการพัฒนาให้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง และบัตร Rabbit ของ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ซึ่งปัจจุบันทุกระบบรวมกันมีจำนวน 14.2 ล้านใบ สามารถใช้งานร่วมกันได้ภายในเดือนมิ.ย. 63 นี้ ซึ่งหลังจากนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งประชุมหารือ เพิ่มจากสัปดาห์ละครั้งเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

โดยประเด็นที่ต้องเร่งหารือ ร่วมกัน คือ 1.หาข้อสรุปเรื่องแหล่งที่มาของค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบและการดำเนินการ ซึ่ง เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งจะต้องหารือกับเอกชนผู้รับสัมปทานต่อไป ซึ่งในส่วนของ รฟม. มีรถไฟฟ้าสีม่วง และสีน้ำเงิน ซึ่งมีบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่เป็นผุ้รับสัมปทานและเดินรถ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบ รวม 225 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 105 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมี BTSC เป็นผู้รับสัมปทาน ประเมินค่าใช้จ่ายไว้ที่ 120 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้

2. หาข้อสรุปการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non 3 Disclosure agreement: NDA) โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

3. จัดทำข้อตกลงทางธุรกิจ (Business Rules) ซึ่งปัจจุบัน BEM และ BTS ยังมีความแตกต่างกัน เช่น การเติมเงิน การให้ส่วนลด เด็ก นักเรียน ผู้สูงอายุ หรือ กรณีเงินไม่พอ บัตรติดลบ เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในการใช้บัตรข้ามระบบ

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ แอร์พอร์ตลิงก์ น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากการปรับปรุงระบบก่อนหน้านี้ให้รองรับบัตรแมงมุมและ MRT Plus ยังไม่เสร็จ โดยมีการทดสอบระบบในห้องทดลอง 3 ครั้งแต่ไม่ผ่าน ขณะที่สัญญาจ้างสิ้นสุดไปแล้วถึง 11 เดือน ที่ประชุมเร่งให้แอร์พอร์ตลิงก์ พิจารณาความสามารถของบริษัทฯ และตรวจสอบ เงื่อนไขสัญญา และการยกเลิกสัญญา โดยตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง หากค่าปรับเกิน 10% ของมูลค่าสัญญา เจ้าของงานมีสิทธิ์ยกมาเป็นข้ออ้างในการยกเลิก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ