สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 4/62 ขยายตัว 1.6% เทียบกับการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/62 ขยายตัว 0.2% จากไตรมาสที่ 3/62 (%QoQ SA)
ในด้านการผลิต ภาคเกษตรลดลงตามการลดลงของผลผลิตพืชหลัก ส่วนภาคนอกเกษตรชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคบริการขยายตัวดีต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง การลงทุนรวมชะลอตัวตามการลดลงของการลงทุนภาครัฐบาล ขณะที่การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการลดลง
ขณะที่ภาพรวมของปี 62 ขยายตัว 2.4% เทียบกับ 4.2% ในปี 61 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง 3.2% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม ขยายตัว 4.5% และ 2.2% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.8% ของ GDP
สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยย่อตัวลงมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ได้แก่ ผลกระทบสงครามการค้าและการส่งออกที่ลดลง ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 63 ล่าช้า เกิดปัญหาภัยแล้ง และเงินบาทแข็งค่า
นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/62 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.6% และถือว่าต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาสนั้น สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่ในหลายประเทศทั่วโลกยังพบว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4 มีการขยายตัวที่ชะลอลงเช่นกัน ยกเว้นเพียงญี่ปุ่น สหรัฐ เกาหลี ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ที่ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ภาพรวมเศรษฐกิจไทยพบว่าด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกสินค้าปรับตัวลดลง ด้านการผลิต พบว่าการผลิตสาขาที่พักแรมและบริการอาหาร และสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนสาขาขายส่งและขายปลีกขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ปรับตัวลดลง