นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน "Green Cooling Revolution: RAC NAMA Fund and the Future of Thai Industry" โดยมีนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย นางมาร์กาเร็ต ทังก์ อุปทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญต่อนโยบายการลดใช้สารทำความเย็นที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน พร้อมส่งเสริมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ซึ่งมีค่าศักยภาพการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ในระดับต่ำ โดยผสมผสานรูปแบบการสร้างโอกาสทางธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ร่วมกับการจัดการปัญหาทางสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) พร้อมกันนี้ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลอังกฤษ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ได้เสริมสร้างความร่วมมือ และสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ เทคโนโลยี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันนำมาซึ่งผลสำเร็จของกองทุนฯ
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า กฟผ. ในฐานะผู้รับทุนในนามรัฐบาลไทย ได้ร่วมกับ GIZ ดำเนินโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทยสู่การใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย กฟผ. ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน RAC NAMA มาตั้งแต่ปี 2560 จำนวน 8.3 ล้านยูโร (ประมาณ 300 ล้านบาท) เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ ทั้งด้านการผลิต การบริโภค และภาคบริการ โดยในระยะเวลากว่า 2 ปี กฟผ. ได้สนับสนุนเงินทุนผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ ได้แก่ 1) เงินสนับสนุนกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค จำนวนกว่า 10 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่ออกสู่ตลาดแล้ว ทำให้สามารถกระตุ้นยอดการซื้อตู้เย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติได้กว่า 15,000 เครื่อง และประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 1.1 ล้านหน่วยต่อปี
2) เงินสนับสนุนระยะสั้นปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 1 ปี ให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นไทย เพื่อช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงินในการลงทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ จำนวน 52 ล้านบาท 3) เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นไทย สำหรับการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ จำนวนกว่า 90 ล้านบาท
4) เงินอุดหนุนสำหรับการจัดหาอุปกรณ์สำหรับฝึกอบรมและจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม 8 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 15 ล้านบาท และ 5) เงินสนับสนุนปลอดดอกเบี้ยสำหรับการดำเนินงานมาตรการทางการตลาด เพื่อเพิ่มยอดขายของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น จำนวนกว่า 155 ล้านบาท
สำหรับปีนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติจะเริ่มออกสู่ตลาดในประเทศ โดยคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์กว่า 100,000 เครื่อง และจะมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% ในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังตลาดภูมิภาคยุโรปและประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดจนถึงปี 2573 จะสามารถช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้สูงถึง 3,500 ล้านหน่วยต่อปี
นายเกออร์ก กล่าวว่า ประเทศเยอรมนีเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรม และเทคโนโลยีของโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ประเทศเยอรมนีมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยประเทศไทยและเยอรมนีได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมามากกว่า 10 ปี
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการทำความเย็นของประเทศไทย ถือเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกที่สำคัญของโลก ประเทศเยอรมนีจึงภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีสีเขียว รวมถึงประสบการณ์และองค์ความรู้จากการดำเนินงานของกองทุน RAC NAMA ซึ่งควรได้รับการถ่ายทอดไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย
นางมาร์กาเร็ต กล่าวว่า กองทุน RAC NAMA ถือเป็นกองทุนแรกของประเทศไทยที่มีการพัฒนากลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและเยอรมนีผ่านกองทุน NAMA Facility ในการดำเนินโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแผนที่วางไว้ และผลสำเร็จของกองทุน RAC NAMA แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลก