นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2562 ที่ 2.4% และช่วงประมาณการ GDP ปี 2563 ที่ 1.5-2.5% ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศนั้น ต่ำกว่าตัวเลขที่ ธปท.ประมาณการไว้ ณ เดือนธ.ค.62 ที่ 2.5% และ 2.8% ตามลำดับ สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงแรง
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของภัยแล้งต่อผลผลิตเกษตร และผลกระทบจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ต่อการใช้จ่ายภาครัฐที่มากกว่าคาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ปลายเดือนม.ค.63 ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย
"เบื้องต้นคาดว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา จะรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะทยอยปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเกิน 3% ได้อีกในปี 2564 หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม" นายดอนระบุ
อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ.63 คณะกรรมการฯ ได้ประเมินข้อมูลล่าสุด ณ ขณะนั้น พบว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมมาก คณะกรรมการฯ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องรอตัวเลขทางการจากสภาพัฒน์ฯ
ทั้งนี้ ธปท. จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไทยชุดใหม่ ในวันที่ 25 มี.ค.63 โดยในระหว่างนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้