นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากความเค็ม และการจัดเก็บภาษีเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 0% (เบียร์ 0%) ว่า ขณะนี้ต้องชะลอแนวทางการพิจารณาทั้งหมดออกไปก่อน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขต้องระดมกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในขณะนี้ ทำให้การพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ต้องหยุดพักไปก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนของภาษีความเค็มนั้น ยังอยู่ระหว่างการสรุปร่วมกันระหว่างสาธารณสุข และกรมสรรพสามิตจะกำหนดเพดานการบริโภคโซเดียมว่าควรมีปริมาณเท่าใดต่อวัน จากเพดานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต้องไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่ พร้อมและมีการปรับสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็ม และให้สอดคล้องกับเทรนด์เรื่องสุขภาพในปัจจุบัน
ส่วนการจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% นั้น ก่อนหน้านี้ได้เสนอกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว และได้ให้กลับมาพิจารณาใหม่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น หลังจากนักวิชาการให้ความเห็นว่าหากมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว อาจส่งผลให้ราคาขายปลีกเบียร์ 0% ไม่แตกต่างจากเบียร์ปกติ แต่อีกมุมมองว่า เบียร์ 0%จัดว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่งแต่ยังไม่มีพิกัดภาษีที่จะเข้าไปจัดเก็บให้ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันเบียร์ 0% ใช้อัตราภาษีเดียวกับน้ำหวาน ซึ่งอยู่ที่ 14% แต่เบียร์ปกติ อยู่ที่ 28% โดยอัตราภาษีต่างกันมาก
"การเปิดพิกัดภาษีเบียร์ 0% มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายควบคุมได้เหมือนแอลกอฮอร์ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยอัตราภาษีเบียร์ 0% จะสูงกว่าอัตราภาษีน้ำหวาน แต่ต่ำกว่าภาษีเบียร์ทั่วไป เพื่อให้เห็นภาพชัด และการจัดเก็บภาษีก็เพื่อไม่เป็นการจูงใจให้เกิดการเข้าถึง การบริโภค ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะนำไปสู่การบริโภคเบียร์ปกติ" นายพชร กล่าว
นายพชร กล่าวถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในช่วง 4 เดือนของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ม.ค.63) อยู่ที่ 2.12 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 2.72 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 14.71% โดยสินค้าที่จัดเก็บรายได้สูงสุด ได้แก่ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน อยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท, ภาษีรถยนต์ อยู่ที่ 3.79 หมื่นล้านบาท, ภาษีเบียร์ อยู่ที่ 3.11 หมื่นล้านบาท, ภาษีสุรา อยู่ที่ 2.49 หมื่นล้านบาท และภาษียาสูบ อยู่ที่ 2.06 หมื่นล้านบาท
จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานั้น อาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในช่วงเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากคนชะลอการท่องเที่ยว ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และภาษีเครื่องดื่มปรับตัวลดลง แต่เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดยาว และโดยภาพรวมยังเชื่อมั่นว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2563 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 6.22 แสนล้านบาท