Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 เหลือเติบโต 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) มีแนวโน้มรุนแรงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดไว้เดิมผ่านการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และยังอาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทยอีกด้วย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากเรื่อง Supply chain disruption ที่อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของการส่งออกไทยเพิ่มเติมได้
วานนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 4/62 ขยายตัวที่ 1.6% ชะลอลงจาก 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ทำให้ทั้งปี 62 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.4% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา
EIC ระบุว่า ตัวเลข GDP ล่าสุดบ่งชี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้น โดยแม้ GDP ในภาพรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ techinical recession แต่มีหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว โดยแม้ว่าในภาพรวม GDP จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) แต่ก็ถือว่ามีอัตราเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและปรับผลของฤดูกาลแล้ว (QOQ sa) ที่ต่ำมาก โดยขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 62
และหากพิจารณาในรายภาคเศรษฐกิจ ก็จะพบว่ามีหลายสาขาการผลิตที่เข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว ได้แก่ ภาคการส่งออกสินค้า การลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนของการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร และการบริโภคสินค้ายานยนต์ ในส่วนของเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย ขณะที่ด้านการผลิต สาขาที่เข้าสู่ technical recession แล้ว คือการก่อสร้าง และการเกษตร ในส่วนของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพบว่ามีการพ้นภาวะ technical recession แล้วหลังจากมี %QOQ sa ติดลบติดต่อกันถึง 3 ไตรมาสแรก แต่อัตราขยายตัวยังคงเปราะบาง โดยมีการขยายตัวเพียง 0.1% QOQ sa
EIC ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยช่วงไตรมาส 1/63 (%YOY) จะชะลอลงอย่างมากจากผลกระทบ COVID-19 และความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว สะท้อนจากตัวเลข PMI ของหลายประเทศสำคัญที่มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง
อย่างไรก็ดี หลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายเดือน ม.ค.63 ทำให้คาดว่าโรคระบาดจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และภาวะการค้าโลกที่จะชะลอลง ทั้งที่มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและปัญหาการผลิตและขนส่งสินค้าจากจีนที่หยุดชะงัก (supply chain disruption) ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ COVID-19 ยังอาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทย เนื่องจากมีความตื่นกลัวโรคระบาด
ทั้งนี้ จากการประเมินของ EIC ในกรณีฐาน คาดว่าสถานการณ์ COVID-19 จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งผลกระทบจะมีมากสุดในช่วงไตรมาสแรกจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีนในการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการผลิตและการขนส่งสินค้าของจีน นอกจากนี้ จากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ (ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 13 ก.พ.63) ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรก จึงทำให้คาดว่า GDP ไทยไตรมาสแรกจะชะลอลงมากสุดก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวในระยะถัดไป
จากตัวเลขเร็ว (High frequecy data) ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศรายวันล่าสุดที่มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาด ทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ 1.8% จากเดิมคาดที่ 2.1% จากการติดตามจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยผ่าน 5 สนามบินหลัก พบว่าในช่วงวันที่ 1-13 ก.พ.63 นักท่องเที่ยวหดตัวไปแล้วกว่า -45%YOY ซึ่งลดลงมากกว่าคาดการณ์เดิมของทาง EIC ที่ -30.8%YOY จึงมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในเดือน ก.พ.(lowest draw-down)
นอกจากนี้ ยังคาดว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากลักษณะของ COVID-19 ที่มีการแพร่เชื้อได้ง่าย สะท้อนจากผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในการกลับมาเดินทางอีกครั้ง จึงทำให้ EIC ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 เหลือประมาณ 37 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -7.1%YOY จากประมาณการเดิมที่ประมาณ 38 ล้านคน (-4.6%YOY) ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 1.8% จากเดิมที่ 2.1%
อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในปี 63 ซึ่งจะต้องติดตามลักษณะและขนาดของมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป
ขณะที่ EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.00% ในช่วงที่เหลือของปี 63 จากขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดขึ้น และอาจหันไปพึ่งมาตรการด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดย กนง.ให้ความสำคัญต่อการใช้มาตรการด้านอื่น ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจรอประเมินผลกระทบจากมาตรการเหล่านั้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงก่อน
โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างมาก ทั้งในรูปของ การผ่อนคลายมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ที่ดำเนินการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเลื่อนการบังคับใช้มาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (Debt Service Ratio: DSR) มาตรการส่งเสริมและให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs มาตรการช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ของภาคครัวเรือน ทั้งการปรับกฎเกณฑ์โครงการคลินิกแก้หนี้ และการโครงการ refinance ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคารออมสิน มาตรการที่ให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ทั้งในรูปแบบของมาตรการด้านภาษี และการขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ภาคธุรกิจเพิ่มเติมและให้หยุดพักชำระหนี้
ด้วยมาตรการที่มีออกมาค่อนข้างมากนี้ EIC จึงมองว่า กนง. อาจต้องการรอประเมินผลจากมาตรการเหล่านี้ ก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นนโยบายที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) และประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายมีลดลง กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 1.00% เป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมองว่า กนง.อาจประเมินว่าการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะมีผลจำกัดในการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก จะทำให้ประชาชนบางกลุ่มหันมาออมเงินมากขึ้น เพื่อชดเชยรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลง
นอกจากนี้ EIC ยังมองว่าประสิทธิผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมต่อภาคเศรษฐกิจไทยอาจมีไม่สูงมากเท่าในอดีต เนื่องจากความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจไทย อีกทั้งมาตรฐานการให้สินเชื่อก็มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและโลกที่ยังมีอยู่มาก
อย่างไรก็ดี มีโอกาสสูงขึ้นมาอยู่ที่ 40% ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่อเนื่อง กล่าวคือ หากการระบาดของ COVID-19 ยาวนานกว่าที่คาดและส่งผลยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ส่งผลต่อภาคการเกษตรและการจ้างงานเป็นวงกว้าง ก็อาจทำให้ กนง. ต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้
เสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง จากการสื่อสารของ กนง. ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า กนง.หันมาให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงินในด้านความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นผลพวงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น (ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ กนง. ให้ความสำคัญต่อการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนและภาคธุรกิจมากกว่า) อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาระรายจ่ายด้านดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินลง จึงสอดคล้องกับเป้าหมายของการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป
EIC ปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 63 มาอยู่ที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์ จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้เดิม และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลก ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับเกินดุลน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงมาก ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงมากกว่าที่ EIC ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดย EIC ได้มีการปรับประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 63 เป็นเกินดุลราว 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.7% ต่อ GDP (ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 6.1% ต่อ GDP) ความต้องการเงินบาทจึงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อน โดยการศึกษาพบว่าในช่วงที่มูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงอย่างมีนัย การแข็งค่าของเงินบาทมักชะลอลงหรือปรับอ่อนค่าได้
สำหรับสาเหตุที่ดุลบัญชีสะพัดไทยยังคงเกินดุลอยู่ค่อนข้างสูงแม้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมากนั้น เนื่องจากการเกินดุลการค้ายังอยู่ในระดับสูง (มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก เนื่องจาก มูลค่าการนำเข้าสินค้าพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนลดลงความต้องการภาคเอกชนภายในประเทศ (ทั้งการบริโภคและการลงทุน) รวมถึงการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบที่ลดลงตามการชะลอตัวของการส่งออก)
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจไม่อ่อนค่าลงเท่าที่คาดไว้เดิม : ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ดีจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่ปรับลดลง ทั้งจากสงครามการค้า สถานการณ์ Brexit และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ลดลง จึงทำให้นักลงทุนลดความกังวลลง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจาก COVID-19 ส่งผลให้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับลดลง ทำให้นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้น (กลับมาเกิด risk-off sentiment) ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ) และความต้องการถือเงินดอลลาร์จึงกลับมาสูงขึ้น จึงอาจไม่กลับไปอ่อนค่าได้ดังที่คาดไว้เดิม ซึ่งจะเป็นปัจจัยต้านไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้มากนัก
สำหรับในระยะสั้น (2 ไตรมาสแรกของปี 63) EIC มองว่าเงินบาทจะยังเคลื่อนไหวผันผวนและยังคงอยู่ในระดับอ่อนค่าในกรอบ 30.50-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่อไป ซึ่งเป็นผลจาก 1) ผลกระทบของ COVID-19 ที่จะรุนแรงที่สุดในช่วงสองไตรมาสแรก และ 2) ปัจจัยเชิงฤดูกาลที่พบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับลดลงมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2/63