ผู้บริหารจาก 3 บริษัทซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิกฤติซับไพร์ม ถูกขอให้อธิบายว่าทำไมพวกเขาถึงได้รับเงินค่าตอบแทนหลายร้อยล้านดอลลาร์ ในขณะที่บริษัทของพวกเขากลับต้องสูญเสียเงิน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ผู้บริหารที่ต้องปรากฏตัวต่อคณะกรรมการปฏิรูปรัฐบาลและกำกับดูแลสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (HOGRC) ประกอบด้วย นายแองเจโล โมซิโล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารคันทรีไวด์ ไฟแนนเชียล คอร์ป, นายสแตนลีย์ โอนีล อดีตผู้บริหารเมอร์ริลล์ ลินช์ และนายชาร์ล พรินซ์ อดีตประธานซิตี้กรุ๊ป อิงค์
อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรครีพับลีกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการตั้งคำถามว่าการพิจารณาความในครั้งนี้มีประโยชน์จริงหรือไม่
"การแสร้งทำเป็นมองหาแพะรับบาปไม่เป็นประโยชน์ต่อใครทั้งนั้น" ทอม เดวิส ผู้แทนรัฐเวอร์จิเนียจากพรรครีพับลีกัน กล่าว
คณะกรรมการเปิดเผยว่า นายโมซิโลได้รับเงิน 250 ล้านจากคันทรีไซด์ ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเขาเข้าดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท จนถึงสิ้นปีที่แล้ว
รายงานระบุว่า คันทรีไซด์ได้รับความเสียหายกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว และอีก 422 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 และเมื่อสิ้นสุดปี หุ้นของบริษัทร่วงลงกว่า 80% จากระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ในเดือนก.พ. และในช่วงเวลเดียวกันนั้นเอง นายโมซิโลก็ได้รับเงินเดือนกว่า 1.9 ล้านดอลลาร์ รวมถึงเงินจากหุ้นกว่า 20 ล้านดอลลาร์
ด้านนายโอนีลได้รับเงินบำนาญกว่า 161 ล้านดอลลาร์ หลังปลดเกษียณเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว แต่ทางคณะกรรมการกล่าวว่า หากเมอร์ริลล์ ลินช์ เลิกจ้างเขาแทนที่จะปล่อยให้เขาปลดเกษียณ นายโอนีลก็จะไม่มีสิทธิในเงิน 131 ล้านดอลลาร์ในหุ้นของบริษัท ทั้งนี้ ในช่วงปีที่แล้ว เมอร์ริลล์ ลินช์ ประกาศตั้งเงินทุนสำรองหนี้สูญจากวิกฤติซับไพร์มมูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์
เช่นเดียวกับนายพรินซ์ ซึ่งได้รับเงินโบนัสกว่า 10.4 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว และยังได้รับเงินจากการถือหุ้นกว่า 28 ล้านดอลลาร์ เพราะซิตี้กรุ๊ปยอมให้เขาปลดเกษียณตัวเองแทนที่จะเลิกจ้าง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--