"กลินท์" นำหอการค้าไทยพบรมว.อุตสาหกรรม เสนอ 8 เรื่องเพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 19, 2020 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอมุมมองข้อเสนอแนะของภาคเอกชนต่อการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีข้อเสนอประกอบด้วย

1. เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการอากาศสะอาด ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและพัฒนา ระบบการจัดการอากาศของประเทศ โดยมีกลไกรับผิดชอบลงไปในระดับพื้นที่ของแหล่งมลพิษทางอากาศ ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดบังคับใช้ ซึ่งกระทรวงฯเห็นด้วยและจะสนับสนุนตามขั้นตอนต่อไป

2. จัดทำบันทึกลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและสถาบันอาหาร เพื่อส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารด้วยนวัตกรรม และเพิ่มความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และหอการค้าไทย ในการขับเคลื่อนโครงการสร้างปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม (AGRO GENIUS ACADEMY) ร่วมกับโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน เพื่อพัฒนาและสร้างต้นแบบของผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และต่อยอดในเชิงพาณิชย์สู่ตลาดสากล ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แจ้งว่าได้มีความร่วมมือกับหอการค้าอยู่แล้วเป็นระยะ และจะประสานความร่วมมือดังกล่าวต่อไป

3. เสนอให้เพิ่มอัตรากำลังเพื่อติดตามและตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และถ่ายโอนงานบริการด้านงานตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานให้แก่ภาคเอกชนที่มีความพร้อมดำเนินการแทน (Outsourcing) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและครอบคลุมสินค้าที่ต้องทดสอบ รวมทั้งบูรณาการการทำงานห้องทดสอบหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการอำนวยความสะดวกการให้บริการ แบบ One stop service เพื่อลดปัญหาการทดสอบสินค้าไม่ทันเวลาและต้องส่งห้องทดสอบหลายแห่ง

ในเรื่องนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้แจ้งว่า สมอ.ได้มีการถ่ายโอนงานให้กับหน่วยงานภายนอกตรวจสอบสินค้า และสนับสนุนงบประมาณด้านอุปกรณ์ให้กับห้องทดสอบหลายแห่งเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ดี อาจมีสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมที่ดูแลไม่ถึงบ้าง

4. สนับสนุนให้มีการศึกษาและหาแนวทางการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้องตามหลักสากลเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยขอให้กระทรวง และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการหารือร่วมกัน โดยเฉพาะการกำจัดซากแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ และโทรทัศน์ ซึ่งกระทรวงจะมีการหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป

5. ส่งเสริมแนวทาง Circular Economy ในบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และ กกร. เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด Circular Economy ในการผลิตสินค้าและบริการตั้งแต่ขั้นตอน R&D การออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการใช้งานของผู้บริโภค และเร่งสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยให้ สมอ.เป็น Certified Body เช่นเดียวกับ EUCertPlast ในการกำหนดปริมาณ Recycle ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และ Certify แหล่งที่มาของ Recycle

รวมทั้งช่วยผลักดันให้เกิด Waste Management ในรูปแบบ End to End เพื่อเพิ่มปริมาณ Recycle และลด Waste to Landfill โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้การสนับสนุนการลงทุน อีกทั้งเร่งรัดห้ามการนำเข้า Plastic Waste นอกจากนี้ บังคับให้ผู้ประกอบการระบุวิธีการจัดการและกำจัดของเสีย หลังการใช้งานของสินค้าทุกประเภท และเร่งใช้นโยบายด้านภาษีให้ Incentive กับผู้นำ Recycle เป็นส่วนในการผลิตมากขึ้น ในเรื่องนี้กระทรวงฯเห็นชอบกับข้อเสนอของหอการค้า และจะนำเสนอความเห็นในขั้นตอนต่อไป

6. พิจารณาการแยกประเภทโรงงาน "อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" ออกจาก "อุตสาหกรรมปิโตรเคมี" ให้ชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องผังเมืองที่เกี่ยวกับที่ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่สีเขียว (โรงงานลำดับที่ 42 ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 หมายถึง โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ย) ซึ่งกระทรวงแจ้งว่า ได้มีการปรับปรุงนิยามของโรงงานลำดับที่ 42 ให้ละเอียดขึ้นโดยเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ซึ่งน่าจะครอบคลุมตามที่หอการค้าไทยเสนอมา

7. หอการค้าไทย ขอขอบคุณกระทรวงฯที่ทบทวนรายชื่อวัตถุอันตรายและขยายเวลาในการบังคับใช้ ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ออกประกาศกำหนดให้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทำให้ผู้ประกอบอาหารแปรรูปมีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานผลิต และสามารถนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศอื่น ๆ มาผลิตเพื่อการส่งออกได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้ขอให้ภาคเอกชนช่วยตรวจสอบว่ามีสารประเภทใดบ้างที่สามารถใช้ทดแทนสารดังกล่าว เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการพิจารณาขั้นต่อไป

8. ขอให้ทบทวนการยกเลิกโควตาน้ำตาลสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก (โควตา ค.) หรือสร้างมาตรการอื่นรองรับ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยกระทรวงรับทราบและจะนำไปพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ได้รับจากชาวไร่ และความเห็นของกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ของหอการค้าไทย กระทรวงจะนำไปพิจารณาผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และกระทรวงจะต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยจะให้มีการประสานงานและติดตามความคืบหน้าในเรื่องต่าง ๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องที่เสนอมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ