กกพ.เตรียมชง กพช.ปลดล็อคดันเอกชนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันใน ERC Sandbox ใน มี.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 20, 2020 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กกพ.เตรียมชง กพช.ปลดล็อคดันเอกชนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันใน ERC Sandbox ใน มี.ค.นี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะประชุมในเดือนมี.ค.นี้ เพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ข้อจำกัดต่าง ๆ เปิดทางให้เดินหน้าเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Peer to Peer Energy Trading หรือระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนโดยรอบในพื้นที่โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบริหารพลังงาน (ERC Sandbox) ได้รวดเร็วขึ้น หลังจากได้ผู้ที่มีสิทธิทดสอบระบบดังกล่าวจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้

ข้อจำกัดสำคัญ คือ การที่ปัจจุบันระบบซื้อขายไฟฟ้าของไทยอยู่ภายใต้นโยบาย Enhancing Single Buyer ที่กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว รวมถึงยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน (Wheeling Charge) ซึ่งจะทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ เป็นต้น

"กลุ่ม Sandbox Peer to Peer เรามองว่าไม่กระทบภาพรวมระบบการซื้อขายไฟฟ้าเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างเอกชนและเอกชน กระทบอยู่อันเดียวที่นโยบายบอกว่าเป็น Single Buyer จะขอปลดตรงนี้รูปที่เอกชนขายกับเอกชน ขายกันเอง หรือกรณีขายผ่านสายเพื่อเป็นการทดลอง เราจะขออนุญาตว่าให้ทำอย่างนี้ได้ เพื่อดูว่าระบบมี action หรือพฤติกรรมการใช้อย่างไร และจะมีผลต่อเสถียรภาพระบบไฟฟ้าอย่างไร เราก็จะขอเสนอไปกับกพช.ให้ทดลองใน Sandbox"นายคมกฤช กล่าว

อนึ่ง เมื่อเดือน ก.ย.62 กกพ. ประกาศผลพิจารณาคัดเลือกโครงการ ERC Sandbox ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาและได้รับสิทธิเข้าร่วมจำนวน 34 โครงการ โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) จำนวน 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย

นายคมกฤช กล่าวว่า นอกจากนี้จะเสนอผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น โดยเบื้องต้นยังมีข้อมูลไม่ชัดเจนเพราะพฤติกรรมการใช้ยังไม่มากพอ จึงจะเสนอให้เป็นการทดลองชั่วคราวเพื่อดูพฤติกรรมการใช้ ผ่านโครงการ Sandbox เพราะแต่ละพื้นที่จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับป้อนรถ EV ไม่เท่ากัน หากพื้นที่ใดมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้ามากก็อาจจะราคาแพง แต่พื้นที่ใดมีการใช้ไฟฟ้าน้อยก็อาจจะมีราคาถูก โดย กกพ.ได้ร่วมกับฝ่ายนโยบายและกลุ่มอุตสาหกรรมว่าถ้านำพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเกณฑ์จะช่วยประเทศชาติโดยรวมหรือไม่ หรือจะใช้เกณฑ์แบบใดที่จะเอื้อประโยชน์และทำให้ภาพรวมการใช้ดีกว่ากันซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ และคาดว่าการทดสอบจะใช้ระยะเวลา 1-2 ปีจึงจะรู้ผล อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะมีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับการชาร์จไฟฟ้าขึ้นมาก่อนเพื่อจูงใจและศึกษาพฤติกรรมการใช้ในโครงการ Sandbox

สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมนั้น ขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และประกาศใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค.64 ซึ่งการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทำให้เกิดพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ผู้ผลิตเองใช้เอง (Prosumer)ที่คาดว่าจะมีปริมาณมากขึ้นในอนาคต และบางส่วนยังต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าหลัก ก็จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้ารวมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้วย

ดังนั้น อาจจะต้องมีการพิจารณาเรื่องของการคิดค่าบริการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าหลัก ซึ่งในส่วนนี้ อาจจัดเก็บเป็นอัตราส่วนเพิ่ม โดยจะไม่รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐาน

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.ถึงสิ้นปีนี้ ยังต้องขึ้นอยู่กับราคาเชื้อเพลิง และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน โดยค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ยังคงที่ระดับ 3.64 บาท/หน่วย จากการตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่ระดับติดลบ 11.60 สตางค์/หน่วย และมีค่าไฟฟ้าฐาน อยู่ที่ 3.7556 บาท/หน่วย

อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน กกพ. ยังมีวงเงินคงเหลือที่จะนำมาดูแลค่าไฟฟ้าได้ราว 1 พันล้านบาท โดยขณะนี้มีปัจจัยบวกจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าถึง 60% ของค่าเชื้อเพลิงทั้งหมด ยังมีราคาไม่สูงมากนัก และเงินบาทยังแข็งค่า ก็จะทำให้ค่าเชื้อเพลิงถูกลง แต่ก็มีปัจจัยลบที่เป็นความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อาจจะสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนบางแห่ง ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำพร้อมกับหันมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทอื่นทดแทน หลังจากเผชิญปัญหาภัยแล้ง แต่ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศแน่นอน

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรูปแบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง ทำให้กกพ.ต้องศึกษารูปแบบในหลายประเทศเพื่อนำมาปรับใช้กับไทยเพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น อย่างการมาดูงานโครงการทดสอบภายใต้โครงการ Sandbox สำหรับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer ของ Kansai Electric Power ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้า อย่างไรก็ตามปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าตลาดค้าปลีกรายย่อยรูปแบบดังกล่าว ซึ่งทาง Kansai คาดว่าจะสามารถนำรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer มาใช้ได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ กกพ.ยังดูงานโซลาร์ฟาร์มของกลุ่ม Kansai ที่เมือง Sakai ภายใต้ชื่อ Sakai Solar Power Station ขนาด 10 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่กำจัดกากอุตสาหกรรม โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 74,000 แผง แผงโซลาร์ส่วนใหญ่ใช้งานมาแล้วราว 10 ปี จากอายุการใช้งานราว 20 ปี ทำให้ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางที่เหมาะสมในการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ โดยญี่ปุ่นได้นำนโยบายให้มีการสะสมเงินเข้ากองทุนเพื่อรองรับการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุที่จะออกมาเป็นจำนวนมากในอีก 10 ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศไทยก็ต้องศึกษาแนวทางกำจัดในหลายรูปแบบ เพราะแผงโซลาร์เซลล์ของไทยก็จะหมดอายุใกล้เคียงกับญี่ปุ่นเช่นกัน เบื้องต้นอาจให้มีการทดลองบางพื้นที่ภายใต้ Sandbox ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงกลไกบางประการใน Sandbox เพื่อให้สามารถเดินหน้าทดลองได้ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ