นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.63 อยู่ที่ระดับ 92.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.7 ในเดือนธ.ค.62 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกลับมาเร่งปริมาณการผลิต หลังจากติดวันหยุดต่อเนื่องในเดือนธ.ค.62 ทำให้ทุกองค์ประกอบของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งดัชนีฯ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ขณะเดียวกัน สินค้าที่ใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) และฝุ่น PM2.5 มียอดขายเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องมือแพทย์, ยา และเคมีเพื่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ รวมถึงกลุ่มเยื่อกระดาษ จากความต้องการใช้หน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลตรุษจีนยังส่งผลดีต่อการใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่สงครามการค้าเริ่มคลี่คลายลงจากการที่สหรัฐฯ และจีนได้บรรลุข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1 และการขยายตลาดส่งออก ส่งผลดีต่อคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนภาครัฐและการจ้างงาน ขณะที่ภัยแล้งยังส่งผลต่อกำลังซื้อในภาคเกษตร
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 99.4 โดยลดลงจาก 100.1 ในเดือนธ.ค.62 โดยค่าดัชนีต่ำสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.59 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตรจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 หากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การส่งออก และเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดย ส.อ.ท.ขอให้ยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้างและผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) รอบหน้าเดือนมี.ค.อาจจะมีการทบทวนประมาณการตัวเลขทั้งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ตัวเลขการส่งออก เนื่องจากขณะนี้ปัจจัยลบรุมเร้าโดยเฉพาะสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภัยแล้ง การเมืองในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่เราเฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา
"จริงๆ เราปรับประมาณการมาตลอด ถ้าสถานการณ์ไม่ไหวจริงๆ คงต้องปรับอีก"นายสุพันธุ์ กล่าว