ดัชนีเชื่อมั่นอนาคต ศก.ภูมิภาค ก.พ.ทรงตัว จับตาท่องเที่ยวภาคใต้-ตะวันออกรับผลกระทบโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 27, 2020 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนก.พ.63 ว่า พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) ชี้ผลสำรวจแนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจไทยทึ่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ควรติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรของภาคกลาง และสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวของภาคใต้และภาคตะวันออก จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 60.4 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคการบริการ เนื่องจากมีนโยบายจากภาครัฐในการขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคเกษตรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายรัฐบาลที่มีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศส่งผลให้กิจการด้านการบริการขยายตัวสูงขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 60.4 สะท้อนถึงการคาดการณ์การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคการจ้างงาน เนื่องจากนักลงทุนมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเข้าช่วงฤดูกาลของผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด ซึ่งส่งผลให้มีความต้องการใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยทางบวกทำให้มีการขยายตัวของภาคบริการ ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานสูง อย่างไรก็ดี ควรติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังมีผลต่อแนวโน้มภาคเกษตรในภาคตะวันออก และสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ 53.2 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ทรงตัว ขณะที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด และเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก และมีจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการมากขึ้น อย่างไรก็ดี ควรติดตามสถานการณ์หมอกควันในจังหวัดภาคเหนือ รวมถึงเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนและฤดูฝนที่อาจส่งผลต่อการท่องเที่ยวในภาคเหนือ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ 53.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนในภาคการเกษตรและภาคการจ้างงาน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นความต้องการใช้ยางพาราของภาครัฐ เพื่อยกระดับราคายางพาราโดยการใช้ยางพาราในการทำถนน และสินค้าแปรรูป อาทิ ถุงมือ หมอน และรองเท้า เป็นต้น ขณะเดียวกันความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันในประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 และ B20 ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศมีความสมดุลในระยะยาว สอดรับกับอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มดิบที่คาดว่าใน 3-4 เดือนข้างหน้าจะมีผลปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดในปริมาณมาก อย่างไรก็ดี ควรติดตามสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 53.1 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เนื่องจากมีการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงขึ้น และผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ควรติดตามสถานการณ์การจ้างงานและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของ กทม. และปริมณฑล

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 51.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่คาดว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การส่งเสริมการรวมกลุ่ม การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมีการจ้างงานและการลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ควรติดตามสถานการณ์ภาคการจ้างงานและการลงทุนในหลายจังหวัดที่มีแนวโน้มหดตัวลง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 50.5 โดยควรติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรของภาคกลาง โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งในหลายจังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ