ศก.ภูมิภาคม.ค.63 ได้ปัจจัยหนุนจากภาคใต้-เหนือ-อีสาน ราคาสินค้าเกษตรขยายตัว แต่ต้องจับตาผลกระทบโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 27, 2020 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ม.ค.63 เดือนแรกของปีนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคใต้, ภาคเหนือ และภาคอีสาน จากการจับจ่ายใช้สอยในหมวดสินค้าทั่วไปและสินค้าคงทน สอดคล้องกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ส่วนหนึ่งได้รับผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อจากนี้ไปควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภูมิภาคที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

สำหรับภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวจากการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคสินค้าคงทน และการท่องเที่ยว เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวโดดเด่นจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการอยู่ที่ 875 ล้านบาท ขยายตัว 94.1% ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลและชิ้นไม้สับจากไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 432 ล้านบาท ขณะที่จำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ยังหดตัวต่อเนื่องที่ -21.1% และ -10.5% ต่อปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน วัดจากการบริโภคสินค้าคงทนและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภูมิภาคขยายตัว สอดคล้องกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่สามารถกลับมาขยายตัวอยู่ที่ 6.0% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -7.1 ต่อปี เช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในจังหวัด ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวเป็นบวก แม้ในภาพรวมการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวเล็กน้อยที่ -0.2% ต่อปี อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ยังคงหดตัวที่ -16.4% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -21.5% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัว พบว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.3% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -0.9% ต่อปี แบ่งเป็นชาวต่างชาติขยายตัว 4.8% ต่อปี และชาวไทยหดตัว -4.9% ต่อปี ขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนหดตัว -1.1% และ -5.1% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ 0.6% ต่อปี

ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัวจากด้านอุปสงค์ ทั้งจากการลงทุนภาคเอกชน การจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไป และการบริโภคสินค้าคงทน ขณะที่การท่องเที่ยวหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับจากเดือนก.ย.62 โดยพบว่าเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยเฉพาะจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ เงินลงทุนอยู่ที่ 489 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 234.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวสารด้วยเงินลงทุนจำนวน 213.04 ล้านบาท ในจังหวัดกำแพงเพชร

อย่างไรก็ดี จำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ มีการหดตัวชะลอลงจากเดือนธ.ค.62 ที่หดตัว -37.5% และ -29.5% ต่อปี มาเป็น -24.2% และ -12.4% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ยังสามารถขยายตัวได้ที่ 0.3% และ 0.6% ต่อปีตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.9% และหดตัว -18.3% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการชิม ช็อป ใช้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์นั่งยังคงหดตัวที่ -21.9% ต่อปี แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -34.1% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหดตัว พบว่าจำนวนของผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน หดตัว -2.3% และ -4.4% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.3% และ 1.5% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ที่ 1.7% ต่อปี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัวจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไป และการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การท่องเที่ยวหดตัว พบว่าเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไป สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 3.8% ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6% ต่อปี ขณะที่การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนชะลอตัว สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ยังคงหดตัว -17.6% และ -3.1% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -28.2% และ -28.7% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรกลับมาขยายตัว สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการอยู่ที่ 746 ล้านบาท ขยายตัว 76.2% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -66.0% ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ และการผลิตและจำหน่ายสารปรับปรุงดิน ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี จำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ยังคงหดตัวที่ -17.2% และ -16.1% ต่อปี ตามลำดับ ต่อเนื่องจากเดือนธ.ค.62 หดตัว -31.4% และ -21.6% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหดตัว สะท้อนจากจำนวนของผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัว -5.8% และ -3.4% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ 2.2% ต่อปี

ภาคตะวันตก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ขณะที่เครื่องชี้ตัวอื่นๆ ยังคงทรงตัว พบว่าเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 9.5% ต่อปี จากเดือนธ.ค.62 ที่หดตัวสูงถึง -23.8% ต่อปี อย่างไรก็ดี เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ กลับมาหดตัวที่ -48.3% และ -5.2% ต่อปีตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 31.5% และ 535.6% ต่อปี

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนหดตัว สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวที่ -17.0% และ -14.3% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าของประชาชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่หดตัวที่ -10.5% ต่อปี

นอกจากนี้ ด้านอุปทานโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหดตัว สะท้อนจากจำนวนของผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัว -4.3% และ -5.5% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ที่ 0.8% ต่อปี

ภาคกลาง ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก และเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มและได้รับอนุญาตประกอบกิจการที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การท่องเที่ยวหดตัว พบว่าเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว โดยเฉพาะจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 12.5% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -6.8% ต่อปี

นอกจากนี้ เงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 59.3% ต่อปี จากการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ และโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการวิจัยและพัฒนาปูนซีเมนต์ผสมและขึ้นรูปผลิตภัณฑ์คอนกรีตในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวที่ 19.6% ต่อปี จากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ

สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังคงหดตัว โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงที่ -29.0% และ -7.7% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไป สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่หดตัว -7.2% ต่อปี

นอกจากนี้ ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนของผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน หดตัว -4.7% และ -5.7% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ 0.8% ต่อปี

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจชะลอตัวจากการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคสินค้าคงทน และการท่องเที่ยว พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศหดตัว จากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มและได้รับอนุญาตประกอบกิจการ หดตัวลง -47.0% และ -35.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ หดตัวร้อยละ -21.6 และ -17.1 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่หดตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่หดตัวที่ -1.2% ต่อปี นอกจากนี้ การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนหดตัว จากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงที่ -8.8% และ -1.7% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหดตัวต่อเนื่องทั้งจำนวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือน โดยหดตัวที่ -1.2% และ -3.2% ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการหดตัวทั้งจากชาวต่างชาติและคนไทย ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นหมอกควันทำให้มีนักท่องเที่ยวลดลง ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ที่ 0.8% ต่อปี

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจชะลอตัว จากการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคสินค้าคงทน และการท่องเที่ยว พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศหดตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัว -5.9% ต่อปี เช่นเดียวกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนที่ยังคงชะลอตัว สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดตัว -27.6% และ -4.3% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ หดตัว -19.2% และ -4.6% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มและได้รับอนุญาตประกอบกิจการ หดตัว -92.7% และ -74.1% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหดตัว สะท้อนจากทั้งจากจำนวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือนที่หดตัวที่ -1.7% และ -6.2% ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการหดตัวทั้งจากชาวต่างชาติและคนไทย อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 112.0 ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ที่ 1.4% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ