นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย และส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในภาคธุกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ธอส.จึงได้จัดทำมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น และครอบคลุมกลุ่มลูกค้า ทั้งในกรณีที่ยังมีสถานะผ่อนชำระปกติ และกรณีมีสถานะค้างชำระเงินงวดตั้งแต่เดือนมกราคม 2563
โดยเตรียมกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท จัดทำ "มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)" ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงเหลือ 1.00% ต่อปี เพื่อลดภาระหนี้ที่ผ่อนชำระกับ ธอส. ทุกวัตถุประสงค์การกู้
สำหรับผู้ขอรับมาตรการช่วยเหลือ ต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นลูกค้าปัจจุบันของ ธอส.ที่รายได้ต่อเดือนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แก่ ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเสี่ยง หรืออาชีพอื่นที่แสดงหลักฐานให้ธนาคารตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง อาทิ หนังสือรับรองจากหน่วยงานว่าถูกลดวันทำงาน ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง หรือทะเบียนการค้าหรือสัญญาเช่าร้าน เป็นต้น และธนาคารจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง
"ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมมาตรการ ได้ที่สาขาของธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และธนาคารสงวนสิทธิ์ในการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดโครงการก่อนกำหนด หากธนาคารให้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการแล้ว เนื่องจากวงเงินมีจำกัด กำหนดเงื่อนไขการใช้วงเงิน ลูกค้าที่ยื่นคำขอก่อนได้สิทธิก่อน" นายฉัตรชัยระบุ
ทั้งนี้ สามารสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์
นายฉัตรชัย ยังกล่าวถึงมาตรการด้านสถานที่ว่า ธอส.ได้จัดทำจุดคัดกรองโดยนำเครื่องวัดอุณหภูมิทางร่างกายแบบดิจิตอลมาใช้ในการตรวจลูกค้าและพนักงาน พร้อมทั้งจัดแอลกอฮอล์เจลล้างมือ บริเวณทางเข้าอาคารทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะสาขาที่ตั้งอยูใน 8 จังหวัดเฝ้าระวัง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ และชลบุรี หากพบว่าลูกค้ามีอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะแจกหน้ากากอนามัย และแยกการให้บริการออกมาในพื้นที่เฉพาะเพื่อป้องกันความเสี่ยง
ขณะที่พนักงานที่เดินทางไปประเทศในกลุ่มเสี่ยง เมื่อกลับมาธนาคารให้พนักงานทำงานแบบ Work from home เป็นเวลา 7 วัน ถ้าไม่มีอาการป่วยหลังจากนั้นจะต้องติดตามอาการและรายงานผู้บังคับบัญชาจนกว่าจะครบ 14 วัน และธนาคารได้ออกประกาศคำสั่งภายในธนาคาร เรื่องแนวทางปฏิบัติตนของพนักงานกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) อาทิ งดจัดงานสัมมนา ดูงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และกำหนดแนวทางปฏิบัติตนในกรณีต่าง ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงจากการเดินทาง โดยในวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2563 ธนาคารยังได้จัดให้มีทีมแพทย์และพยาบาล เข้าดำเนินการตรวจคัดกรองผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนบริษัทผู้เช่าอาคาร และ Outsource ทั้งหมดที่ปฏิบัติงานในสำนักงานใหญ่อีกด้วย