ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 63 เริ่มเร็ว รุนแรง และมีแนวโน้มที่จะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปลายปี 62 ระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อนหลายภูมิภาคเริ่มลดลงก่อนที่จะผ่านพ้นช่วงฤดูฝน สะท้อนว่าประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งเร็วกว่าปกติ โดยข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือนก.ย.62 - ก.พ.63 ว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรวม 1,624,501 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1,442,674 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 89% ของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายโดยรวม ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ 180,684 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนและอื่น ๆ อีก 1,143 ไร่
เมื่อพิจารณาระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อน ณ เดือนก.พ.62 พบว่า ภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย ได้แก่ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ในขณะที่ภาคกลางเผชิญภาวะน้ำในเขื่อนน้อยเข้าขั้นวิกฤติแล้ว โดยทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และกลางมีปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และยังต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักของปี 57 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีอีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญภัยแล้งระดับรุนแรง
โดยปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้วรวม 22 จังหวัด ยิ่งไปกว่านั้น กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าภัยแล้งในปี 63 จะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มยาวนานไปถึงเดือนมิ.ย.63
สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ EIC จึงได้ประเมินผลกระทบของภัยแล้งต่อผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว, อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยสัดส่วนจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่เพาะปลูกพืช 5 ชนิดดังกล่าว รวมกันคิดเป็น 97% ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ
ผลการวิเคราะห์ในเบื้องต้น พบว่า ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากมีการเพาะปลูกมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยข้าวนาปรังเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 แล้ว ในขณะที่อ้อยและมันสำปะหลัง สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลังจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย.63 ในปริมาณมาก
EIC ประเมินว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มก่อความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อย และข้าวนาปรังมากที่สุด การเพาะปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 62 ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 62/63 ลดลงมาก โดย EIC คาดว่าในกรณีร้ายแรงที่สุด ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 62/63 อาจลดลงมากถึง 25 ล้านตัน หรือคิดเป็น 27% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยรวม ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 62/63 เหลือประมาณ 75 ล้านตัน หดตัวตัว 43% จากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 132 ล้านตัน
ทั้งนี้ปริมาณอ้อยที่ลดลงจากภัยแล้ง ส่งผลให้ในฤดูการผลิตปี 62/63 โรงงานน้ำตาลจะทยอยปิดหีบตั้งแต่เดือนมี.ค. ซึ่งเร็วกว่าในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ที่จะทยอยปิดหีบในช่วงเดือนเม.ย. โดยหากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือนมิ.ย. โรงงานน้ำตาลอาจเผชิญความเสี่ยงในการขาดแคลนอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อไปอีกด้วย
สำหรับผลกระทบของภัยแล้งต่อผลผลิตข้าวนาปรังนั้น ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวนาปรังที่สำคัญ ที่ปัจจุบันระดับน้ำในเขื่อนน้อยเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ประกอบกับในช่วงครึ่งแรกของปี ยังเป็นช่วงที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดปริมาณมาก ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มได้รับความเสียหายอย่างมาก โดย EIC คาดว่า ในกรณีร้ายแรง ที่ภัยแล้งยาวนานไปถึงเดือนมิ.ย.63 ผลผลิตข้าวนาปรังอาจลดลงมากถึง 9 แสนตัน คิดเป็น 21% ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังโดยรวม
ทั้งนี้ สัดส่วนปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังคิดเป็นประมาณ 20% ของปริมาณผลผลิตข้าวไทยโดยรวม ในขณะที่สัดส่วนปริมาณผลผลิตข้าวส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นข้าวนาปี โดยความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปรังจากภัยแล้งในกรณีร้ายแรงดังกล่าว อาจส่งผลให้ในฤดูการผลิตปี 62/63 ผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังรวมกันของไทยอาจเหลือ 28-29 ล้านตัน ลดลงจากในปีปกติที่ไทยมีผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังรวมกันประมาณ 32-33 ล้านตัน
นอกจากนี้ ภัยแล้งยังส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังลดลง แม้สัดส่วนผลผลิตกว่า 57% ของปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโดยรวมจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีหลายจังหวัดในภูมิภาคนี้เผชิญสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง แต่เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชทนแล้ง จึงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อยกว่าพืชชนิดอื่น ๆ โดย EIC คาดว่าในกรณีร้ายแรงที่สุด ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 62/63 อาจลดลง 1.8 ล้านตัน คิดเป็น 7% ของปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโดยรวม
สำหรับในส่วนของปาล์มน้ำมัน และยางพารา คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปี 63 เนื่องจากส่วนใหญ่เพาะปลูกในภาคใต้ อีกทั้งในปี 63 ยังมีปริมาณผลผลิตออกมามาก เนื่องจากเป็นระยะที่ปาล์มน้ำมันและยางพาราให้ Yield ดีตามอายุของการเพาะปลูก
EIC มองว่า ปริมาณผลผลิตอ้อย ข้าว และมันสำปะหลังที่มีแนวโน้มลดลงจากภัยแล้ง จะส่งผลให้ราคาผลผลิตดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาอ้อยนั้น นอกจากจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากภัยแล้งแล้ว ยังได้รับอานิสงส์จากทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก และราคาน้ำตาลในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปี 62/63 มีแนวโน้มสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น โดย EIC คาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปี 62/63 น่าจะไม่ต่ำกว่า 800 บาท/ตัน จากในปัจจุบันที่ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาท/ตัน
สำหรับราคาข้าวขาวในปี 63 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาแตะระดับ 8,000 บาท/ตัน ขยายตัว 2% จากในปี 62 ที่ 7,812 บาท/ตัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลผลิตข้าวไทยในปี 63 จะมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก แต่การแข่งขันในตลาดข้าวโลกที่รุนแรง และสต็อกข้าวโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ยังกดดันให้ราคาข้าวไทยสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย
ในส่วนของราคามันสำปะหลังในปี 63 ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.4 บาท/กิโลกรัม ขยายตัว 16% จากในปี 62 ที่ 2.0 บาท/กิโลกรัม โดยประเทศผู้ผลิตและส่งออกมันสำปะหลังที่สำคัญ ทั้งไทย เวียดนาม และกัมพูชา กำลังเผชิญการระบาดของโรคใบด่าง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโลกมีแนวโน้มลดลง
แม้ว่าราคาข้าว อ้อย และมันสำปะหลังในปี 63 จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้ง แต่อัตราการลดลงของผลผลิตที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคา จะยังกดดันให้รายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลังปรับตัวลดลง ทั้งนี้ครัวเรือนเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลังมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 72% ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ ซึ่งรายได้ที่ลดลงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อจากผู้บริโภคกลุ่มเกษตรกร ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค รถจักรยานยนต์ ไปจนถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช
ในขณะที่รายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันในปี 63 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ดี เกษตรกรผู้ปลูกยางพารายังได้รับแรงกดดันจากราคายางพาราที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อไป ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจะได้รับปัจจัยหนุนจากทิศทางราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากมาตรการเพิ่มอัตราผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ที่ให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันเกรดมาตรฐาน และน้ำมัน B7 และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือก ตั้งแต่เดือนม.ค.63 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 62 นั้น มีส่วนช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรประมาณ 1-2% เมื่อเทียบกับในกรณีที่ไม่มีมาตรการประกันรายได้เกษตรกร โดยความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการประกันรายได้เกษตรกรยังเป็นปัจจัยที่ช่วยประคองรายได้เกษตรกรในปี 63 ต่อไป
อย่างไรก็ดี สำหรับในปี 63 EIC มองว่า ราคาผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ ยกเว้นยางพารา มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะเข้าสู่ระบบมาตรการประกันรายได้เกษตรกรในปี 63 อาจไม่สูงมากนัก โดยเป็นผลมาจากภัยแล้งที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต ซึ่งจะทำให้มาตรการนี้ไม่ได้ช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างเต็มที่ ภาครัฐจึงอาจพิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ อย่างการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผลกระทบจากภัยแล้ง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเพิ่มเติม
EIC มองว่า การบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในระยะสั้น ภาครัฐอาจส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปรับรูปแบบการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ในขณะที่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขควบคู่กันไป ที่ผ่านมา มาตรการบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งส่วนใหญ่ มักอยู่ในรูปแบบการขอความร่วมมือให้เกษตรกรลดการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวนาปรัง รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ทั้งนี้ EIC มองว่า ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะสั้นนั้น ภาครัฐอาจดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกพืช การจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืช เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปรับรูปแบบการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ นอกจากนี้ การส่งเสริมให้เกษตรกรนำผลผลิตทางการเกษตรมาเข้าสู่ระบบการประกันภัยพืชผลมากขึ้น ก็น่าจะช่วยบรรเทาความเสียหายต่อรายได้เกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งในสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำท่วม ก็ยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขควบคู่กันไป โดยนอกจากการพัฒนาแหล่งน้ำ การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมถึงการจัดสรรน้ำแล้ว ยังต้องพิจารณาประเด็นอื่น ๆ ที่จะมาช่วยเสริมให้การใช้น้ำในภาคการเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเพาะปลูกพืชต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยอาจวางแผนและส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในพื้นที่แล้งซ้ำซาก การส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับสูง การสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชตามแผนที่วางไว้ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำ Agritech มาใช้ เช่น ระบบการให้น้ำแบบอัตโนมัติซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ระบบเตือนภัยด้านภูมิอากาศที่จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรสามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำ และวางแผนเพาะปลูกพืชได้อย่างเหมาะสมต่อไป