กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดทรงตัวที่ 31.60 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน ท่ามกลางความตื่นตระหนกในตลาดหุ้นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 4.2 พันล้านบาท และ 1.92 พันล้านบาท ตามลำดับ ในเดือนกุมภาพันธ์มียอดขายสุทธิสำหรับทั้งสองตลาด อยู่ที่ 1.96 หมื่นล้านบาท และ 2.20 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบเงินยูโรและเยน ท่ามกลางคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเงินเยนได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างหนัก
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขภาคบริการและการจ้างงานของสหรัฐฯ และยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสซึ่งได้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้นนอกประเทศจีน เพิ่มความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าโลก อนึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำแห่งอื่นๆ นักลงทุนจึงคาดว่า Policy Space ที่มากกว่าจะทำให้เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยตลาดมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.63 ภาวะเช่นนี้อาจบรรเทาแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงลงบ้างและกดดันค่าเงินดอลลาร์
อย่างไรก็ดี คาดว่าบรรยากาศการซื้อขายในตลาดการเงินโลกยังคงผันผวนและนักลงทุนใช้ความระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดรวมถึงท่าทีของธนาคารกลางหลักๆ ของโลกในการรับมือกับผลกระทบจากไวรัส
สำหรับปัจจัยในประเทศ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเดือน ม.ค.ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนลดลง ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/2563 ขณะที่โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อไปอีก 2-3 เดือน แต่หากการระบาดดำเนินไปต่อเนื่องตลอดปีมีโอกาสที่เศรษฐกิจปี 2563 จะเติบโตต่ำกว่า 1% เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดครั้งใหม่ที่ 0.75% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.63 เพื่อส่งสัญญาณถึงการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกอบกู้เศรษฐกิจ