นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปีปีการผลิต 2563 พื้นที่ 44.7 ล้านไร่ วงเงิน 2,910 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2020 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2563 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 สำหรับพื้นที่เอาประกัน 44.7 ล้านไร่ จำนวนทั้งสิ้น 2,910.39 ล้านบาท

สำหรับปีนี้มีการแบ่งพื้นที่การรับประกันภัยเป็น 2 ระดับคือ Tier1 และ Tier2 โดย Tier1 เป็นการรับประกันภัยขั้นพื้นฐาน พื้นที่เป้าหมายจำนวน 44.7 ล้านไร่ แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรลูกค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 28 ล้านไร่ กลุ่มเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่อำเภอที่มีความเสี่ยงต่ำ 15.7 ล้านไร่ และกลุ่มเกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 1 ล้านไร่ ส่วน Tier2 เป็นการรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ พื้นที่ไม่เกิน 1 ล้านไร่

ส่วนอัตราค่าเบี้ยประกันภัย กรณี Tier1 แบ่งเป็น 1.เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. อัตราเท่ากันทุกพื้นที่ 104.86 บาท/ไร่ รัฐบาลอุดหนุน 65.86 บาท/ไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 39 บาท/ไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) 2.เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงต่ำ อัตร 63.13 บาท/ไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) โดยรัฐบาลอุดหนุนทั้งหมด 3.เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง อัตรา 225.77 บาท/ไร่ รัฐบาลอุดหนุน 73.77 บาท/ไร่ และ เกษตรกรจ่ายเอง 152 บาท/ไร่(รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) และ 4. เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง อัตรา 246.17 บาท/ไร่ รัฐบาลอุดหนุน 75.17 บาท/ไร่ และ เกษตรกรจ่ายเอง 172 บาท/ไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์)

ส่วน Tier2 แบ่งเป็น 3 ระดับ พื้นที่เสี่ยงต่ำ อัตรา 24 บาท/ไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง อัตรา 48 บาท/ไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 101 บาท/ไร่ (เกษตรกรจ่ายเจง รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์)

สำหรับวงเงินความคุ้มครอง ภัยธรรมชาติ 7 ภัย (น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า) ระดับ Tier1 อยู่ที่ 1,260 บาท/ไร่ ระดับ Tier2 อยู่ที่ 240 บาท/ไร่ รวมไม่เกิน 1,500 บาท/ไร่

ส่วนภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด Tier1 อยู่ที่ 630 บาท/ไร่ ส่วน Tier2 อยู่ที่ 120 บาท/ไร่ รวม 750 บาท/ไร่

ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม นบข.อนุมัติขยายเป้าหมายการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพิ่มเติม คือ ปริมาณข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 5 แสนตัน วงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาการจัดทำสัญญาเงินกู้จากเดิม วันที่ 29 ก.พ.63 เป็นวันที่ 31 มี.ค.63

พร้อมกับเห็นชอบการจัดสรรค่าใช้จ่ายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกฯ ให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 682.86 ล้านบาท ประกอบด้วย ชดเชยต้นทุนเงินและค่าบริหารโครงการฯ วงเงิน 167.50 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายกรณีมีการระบายข้าว วงเงิน 515.36 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. จัดสรรวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นทุนเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการฯ จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ มอบหมายฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และมอบหมาย ธ.ก.ส. จัดทำรายละเอียดการขอรับการจัดสรรเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อจ่ายค่าฝากเก็บ เพิ่มเติมวงเงิน 750 ล้านบาท

นอกจากนี้ นบข. ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานอนุกรรมการ อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีหน้าที่และอำนาจจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ปี 2563 – 2567 ด้านการตลาดภายในประเทศ ด้านการตลาดต่างประเทศ และด้านการผลิต ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมและพัฒนาสินค้าข้าว

และ 2. คณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานอนุกรรมการ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลกและข้าวไทย ปี 2562/63 ซึ่งสถานการณ์การผลิตข้าวโลก คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกประมาณ 496.22 ล้านตัน ลดลง 2.96 ล้านตัน หรือ 0.59% จากปีการผลิต 2561/62 ที่มีปริมาณ 499.18 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตหลักลดลง ได้แก่ ไทย ลดลง 1.84 ล้านตัน จีน ลดลง 1.76 ล้านตัน อินเดีย ลดลง 1.42 ล้านตัน และสหรัฐฯ ลดลง 1.24 ล้านตัน

โดยไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้แนวโน้มผลผลิตข้าวไทยลดลงมาก ขณะที่รัฐบาลจีนมีการปฏิรูปโครงสร้างอุปทานภาคการเกษตรโดยปรับลดปริมาณการเพาะปลูกข้าวให้เหมาะสมและมีคุณภาพมากขึ้น ประกอบกับปริมาณสต็อกข้าวภายในประเทศมาก ในขณะที่สหรัฐฯ คาดว่าในบางพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญทางตอนใต้จะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้จนเป็นอุปสรรคต่อการปลูกข้าว

ขณะที่การบริโภคข้าวโลก การค้าข้าวโลก ปี 2562/63 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น และสต็อกข้าวโลก ปลายปี 2562/63 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 178.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.77 จากปี 2561/62 โดยจีนมีสต็อกข้าวโลกมากที่สุด

ด้านการส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ก.พ.63 อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 1.13 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ไทย 0.74 ล้านตัน ปากีสถาน 0.62 ล้านตัน ทั้งนี้ การค้าข้าวในตลาดโลกช่วงต้นปีค่อนข้างชะลอตัว โดยไทยส่งออกลดลงเนื่องจากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ข้าวไทยมีราคาแพง ส่งผลให้คู่ค้าหลัก ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง มีความต้องการซื้อข้าวจากไทยลดลง ขณะที่ราคาข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ในเดือน ก.พ.63 ราคาส่งออกข้าวไทยทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าและประสบภาวะภัยแล้ง

สำหรับสถานการณ์ข้าวไทย ปี 2562/63 แนวโน้มสถานการณ์ด้านราคาข้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเจ้า มีแนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตมีน้อยประกอบกับยังมีความนิยมในการบริโภค และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวมีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากมีข้าวสารเหนียวจากประเทศเพื่อนบ้านไหลเข้าสู่ตลาดไทย ในขณะที่ข้าวเปลือกปทุมธานี มีแนวโน้มราคาคงที่ เนื่องจากตลาดปลายทางชะลอคำสั่งซื้อ จากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ