ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง 0.25% ภายในครึ่งปีแรกในการประชุม มี.ค. นี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปในหลายประเทศมากขึ้น ทำให้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของทั้งไทยและโลกรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ สะท้อนจากการที่ธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศต่างปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง และดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น
ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉิน (Emergency rate cut) 0.50% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยในวันที่ 3 มี.ค.63 ที่ผ่านมาเฟดได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินนอกวาระการประชุมปกติ ซึ่งคณะกรรมการ FOMC มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% จากกรอบ 1.75-1.50% มาอยู่ที่กรอบ 1.25-1.00%
SCB EIC คาดว่าเฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง (0.25% ต่อครั้ง) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม พยุงภาวะเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจ จากการตอบรับของตลาดการเงินที่กล่าวไปก่อนหน้าสะท้อนว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบนี้ยังไม่สามารถทำให้ภาวะการเงินสหรัฐฯ ผ่อนคลายลงมากนัก นอกจากนี้ ตลาดยังคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม 0.25% ในรอบประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.และอีก 0.25% ภายในเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้ เฟดมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจต่อไป และทำให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลงเพิ่มเติม อีกทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ เชื่อว่าการสื่อสารของเฟดในรายงาน FOMC ที่ระบุว่าเฟดพร้อมจะใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม (act as appropriate) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในระยะต่อไปได้
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility Rate: DFR) จาก -0.5% เป็น -0.6% ต่อปี ในรอบประชุมวันที่ 12 มี.ค.63 จากเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก ผนวกกับการสื่อสารของนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ที่ระบุว่ากำลังติดตามพัฒนาการการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพิจารณาถึงผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถในการส่งผ่านนโยบายการเงิน และยังสื่อสารอีกว่า ECB เตรียมพร้อมที่จะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น
ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ ETF และปรับให้มีความยืดหยุ่นในการเข้าซื้อมากขึ้น โดยถ้อยคำแถลงของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ระบุว่าจะติดตามพัฒนาการของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินและสนับสนุนสภาพคล่องผ่านธุรกรรมตลาดเงินและการเข้าซื้อสินทรัพย์การเงิน ทำให้มองว่า BOJ น่าจะยังคงแนวทาง (guidance) ของการเข้าซื้อสินทรัพย์ ETF ต่อปีที่ระดับ 6 ล้านล้านเยน ทั้งนี้การเข้าซื้อ ETF น่าจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลงรุนแรง
นอกจากนี้ ธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเริ่มมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ร่วมตลาดมองว่า ธนาคารกลางเหล่านี้อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในระยะต่อไป โดยหลังจากโควิด-19 แพร่ระบาดไปในหลาย ๆ ประเทศ ธนาคารกลางหลาย ๆ แห่งต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ฟิลิปปินส์ (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 3.75% ต่อปี) มาเลเซีย (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง 0.25% ต่อครั้ง มาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี) และออสเตรเลีย (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี) ซึ่งในระยะต่อไปตลาดคาดว่าธนาคารกลางในภูมิภาคส่วนใหญ่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม
ทั้งนี้ SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากกว่าที่คาด ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออกและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้เดิม นอกจากนี้ ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) ยังรุนแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้าเช่นกัน โดยการปิดโรงงานการผลิตในจีนช่วงต้นปีส่งผลให้การนำเข้าสินค้าขั้นกลางบางชนิดจากจีนมายังไทยต้องชะงักลง (supply disruption) ในบางอุตสาหกรรม
อีกทั้ง สินค้าขั้นสุดท้ายของจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศยังส่งผลต่อภาคการค้าปลีกของไทยด้วย สำหรับความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้นมองว่าอาจส่งผลต่อช่องทางการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ กนง.จึงอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม เพื่อให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำที่สุด โดยมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบการเงินไทยได้บ้าง และช่วยเอื้อประโยชน์แก่ครัวเรือนที่มีความต้องการปรับโครงสร้างหนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะช่วยให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนปรับลดลงได้ อีกทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและภาคธุรกิจต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ประเมินว่า กนง.อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกไม่มากนัก และจำเป็นต้องพึ่งพาการดำเนินนโยบายจากภาคส่วนอื่น ๆ ประกอบ เนื่องจากความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินมีจำกัดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเวลาที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ดังตามที่คาดไว้ ดังนั้น การใช้นโยบายด้านอื่น ๆ ร่วมกับนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยจึงจำเป็นยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินนโยบายไปบ้างแล้ว
"การใช้มาตรการด้านอื่น ๆ ประกอบ นอกเหนือจากการลดอัตราดอกเบี้ยมีความจำเป็นมากขึ้น โดย SCB EIC มองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้อาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากนัก เนื่องจากการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาด้านอุปทาน (supply side) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ใหม่ (new demand) อาจมีผลจำกัด ดังนั้น การใช้นโยบายการเงิน ร่วมกับการดำเนินมาตรการด้านอื่น ๆ เข้าช่วยจึงมีความจำเป็นมากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ที่ผานมา กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสถาบันการเงินทั้งเอกชนและรัฐ ต่างออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลายื่นแบบชำระภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดาออกไปถึงเดือนมิถุนายน 63 และให้ธุรกิจโรงแรมสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มเติม อีกทั้ง เตรียมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มเติม ด้านสถาบันการเงินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็น การพักชำระหนี้เงินต้น (ส่วนใหญ่ให้พักชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 12-18 เดือน ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ) และการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยในกรณีของธนาคารออมสินได้เตรียมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 แสนล้านบาทให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยให้แก่ลูกค้าตนเองต่อไป สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ล่าสุดได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ในการปรับลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมลง เพื่อเอื้อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ยังมีการผ่อนผันเกณฑ์การปรับขั้นลูกหนี้เสียเป็นลูกหนี้ปกติให้ง่ายขึ้นด้วย
ขณะที่ในต่างประเทศมีแนวโน้มหันมาใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยในกรณีของสิงคโปร์ ได้เพิ่มงบประมาณให้แก่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกทั้งให้เงินช่วยเหลือแก่แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำและกลุ่มอาชีพอิสระเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับฮ่องกงนั้น ได้ลดภาษีเงินเดือนของพนักงานและกำไรของภาคธุรกิจ และปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐบาลเข้ามาค้ำประกัน 100% อีกทั้งเตรียมอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและโรงพยาบาล สำหรับประเทศจีนนั้น ภาครัฐได้ออกมาตรการลดภาษีแก่ภาคธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกทั้ง ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงิน 3 แสนล้านหยวน รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ทั้ง LPR และ MLF) และปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน (RRR) ลงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ชะลอลงรุนแรง
ในระยะต่อไป SCB EIC มองว่า ภาครัฐจะดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติม เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาในระยะถัดไปจะเน้น กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ (เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นการบริโภค : cash handout) และการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารที่ได้รับผลกระทบจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับการขาดหายของอุปทานสินค้าจากจีน เป็นต้น