บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 ลงเหลือเติบโตแค่ 0.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 2.7% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% มาที่ 0.75% ในการประชุมปลายเดือนมี.ค.นี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจควบคู่กับการดำเนินนโยบายการคลัง
พร้อมกันนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 1% หรือมีโอกาสติดลบ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยังต้องตั้งสำรองฯ สูง สาเหตุสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า GDP ของไทยรับผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ออกมานอกประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นกระทบกิจกรรมการค้าทั่วโลก ทำให้การส่งออกและนำเข้าทั่วโลกเกิดการหยุดชะงักในรูปแบบห่วงโซ่ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนพึ่งพิงการส่งออกสูงถึง 70% ของ GDP โดยเฉพาะผลกระทบต่อการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก คือ จีน หลังจากที่จีนปิดประเทศไปเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ได้
ขณะเดียวกัน ไทยไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตจากประเทศอื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสนอกประเทศจีน เช่น การนำเข้าชิ้นส่วนผลิตกระปุกเกียร์จากญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตแบบห่วงโซ่ทั้งหมด ประกอบกับยังกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางอ้อมในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวลง เพราะประชาชนมีความกังวลการติดเชื้อไวรัส ทำให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยลดลง แม้จะมีความต้องการซื้อสินค้าป้องกันไวรัสเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งการจัดงานและกิจกรรมต่างๆได้ถูกเลื่อนออกไป ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวอย่างมาก
สำหรับภาคการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่กระทบมากที่สุดหลังจากจีนปิดประเทศ และทุกคนมีความกังวลในการเดินทางเข้ามาในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการที่แต่ละประเทศมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ในปี 63 มองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงไป 8 ล้านคน รายได้จากภาคการท่องเที่ยวหายไป 4 แสนล้านบาท กระทบต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวแบบห่วงโซ่ ได้แก่ ผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ขนส่ง ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ เป็นปัจจัยกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/63 มีความเสี่ยงจะติดลบราว 1% หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนเพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดไปเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะลงลึกต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/63 ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงต้นไตรมาส 2/63 ปัจจุบันยังต้องติดตามสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแล้ว ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ และการระบาดนอกประเทศจีนชะลอตัวลง รวมถึงประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและไทยในช่วงไตรมาส 3/63 กลับมาฟื้นขึ้น คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมจะกลับมาตามปกติในช่วงไตรมาส 4/63
"การที่เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันก็เป็นสัญญาณของการถดถอยทางเทคนิค แต่ก็ต้องจับตาดูว่าการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างไร หากสามารถคลี่คลายลงได้ในไตรมาส 2 นี้ก็จะทำให้ในช่วงไตรมาส 3 เราจะเห็นแสงปลายอุโมงค์ หรือเริ่มฟื้นตัวขึ้น และไตรมาส 4 กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาปกติ"นางสาวณัฐพร กล่าว
ขณะที่ปัจจุบันเริ่มเห็นความร่วมมือของธนาคารกลางทั่วโลกหลังจากเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% แบบเซอร์ไพร์สตลาด ทั้งๆที่จะมีการประชุมเฟดในช่วงอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งเฟดมองว่าไวรัส โควิด-19 มีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และต้องหาทางเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ทำให้ต้องออกมาลดอัตราดอกเบี้ยแบบฉุกเฉิน
และคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค. 63 กนง.น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.75% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1% ต่อปี เพื่อเป็นการส่งผ่านนโยบายการเงินควบคู่ไปกับนโยบายการคลังในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ
นางสาวณัฐพร กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จะส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ต่างๆปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง เพื่อช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่วนนโยบายการคลังมองว่ายังต้องมีแรงกระตุ้นในระยะสั้น จึงจำเป็นต้องออกมาตรการออกมา ซึ่งเมื่อวานนี้ (4 มี.ค. 63) กระทรวงการคลังได้เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งจะมีการแจกเงินเข้ากระเป๋าประชาชนเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอย มองว่าเป็นการช่วยให้สภาพคล่องในระบบกลับมาฟื้นขึ้น และช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่ประชาชนมีความกังวลทำให้ชะลอการจับจ่ายใช้สอยไป
ด้านแนวโน้มภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 63 จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 มองว่ารายได้และการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์จะเข้ามาช้าและเกิดการชะลอตัวลง เพราะความต้องการสินเชื่อลดลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆชะลอออกไป ทำให้รายได้จากค่าธรรมเนียมและการทำธุรกรรมต่างๆ ชะลอตัวตามไปด้วย โดยคาดว่าสินเชื่อรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไนปี 63 จะเติบโตต่ำกว่า 1% โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะเป็นตัวฉุดภาพรวม เพราะการลงทุนเกิดการชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อลดลง
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมีผลต่อการชำระคืนสินเชื่อที่ช้าลง ทำให้โจทย์ของธนาคารพาณิชย์ตอนนี้จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่าการรุกปล่อยสินเชื่อ โดยการช่วยเหลือจะเน้นการยืดเวลาชำระหนี้ การพักชำระหนี้เงินต้น และการปรับโครงสร้างดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบต่อผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ส่วนคุณภาพหนี้ประเมินว่าหนี้เสียยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 3-3.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และส่งผลต่อระดับการตั้งสำรองของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงต้องตั้งสำรองฯ ในระดับสูงอยู่เช่นกัน