นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในปี 63 เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะทำงานร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และร่วมการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งที่ 3 ณ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) นครหลวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2563
โดยเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.62 ที่ผ่านมานี้ สทนช.ในฐานะคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงฝ่ายได้รับหนังสือจาก MRCS เพื่อแจ้งส่งมอบตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งจะมีผลเป็นระยะเวลา 1 ปี คือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 ในโอกาสนี้จึงได้เดินทางมาเพื่อมอบนโยบายการดำเนินงาน พร้อมทั้งหารือประเด็นการทำงานร่วมกับคณะทำงาน MRCS โดยประธานคณะกรรมการร่วมฯ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและกำกับการดำเนินงานของ MRCS ให้บรรลุเป้าหมายและตอบสนองต่อประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาให้มีความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยและประเทศสมาชิกโดยรวม รวมทั้งจะต้องเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อบูรณาการ และประสานการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอีกด้วย
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาได้มีความสำเร็จที่สำคัญจากการดำเนินงานหลายประการ อาทิ รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำโขงปี 60 การเตรียมการจัดยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มน้ำโขง ปี 64 -73 และแผนกลยุทธ์องค์กร ปี 64-68 การอนุมัติแผนปฏิบัติการประจำปี 63 และปี 64 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการภัยแล้ง ปี 63-68 และ ความก้าวหน้าความร่วมมือกับประเทศจีน โดย MRCS ได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ในคณะทำงานร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ ประกอบด้วย การแบ่งปันข้อมูลด้านอุทกวิทยาระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และประเทศจีน และความร่วมมือด้านเทคนิคระหว่าง MRC และศูนย์กลางข้อมูลด้านน้ำ เป็นต้น
ดังนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมฯ สำหรับปี 63 จึงมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการในปีต่อไป ได้แก่ 1) การจัดการภัยแล้งในปัจจุบันและอนาคต 2) การให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง ปี 64-73 และแผนกลยุทธ์องค์กร ปี 64-68 3) การแก้ไขปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน และคู่มือการออกแบบเขื่อนเบื้องต้น ปี 62 4) การดำเนินการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนหลวงพระบางและโครงการเขื่อนสานะคาม 5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบุกรุกของความเค็ม 6) การดำเนินงานโครงการขยายระบบโทรมาตรและการติดตามแม่น้ำโขง (River Monitoring and HYCOS Expansion) โดยขณะนี้ สทนช. ได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานไว้เรียบร้อยแล้ว
"ในการมอบนโยบายครั้งนี้ นอกจากหารือประเด็นการทำงานร่วมกับคณะทำงาน MRCS ในการขับเคลื่อนและกำกับการดำเนินงานของ MRCS ให้บรรลุเป้าหมายและตอบสนองต่อประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาให้มีความยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยและประเทศสมาชิกโดยรวม พร้อมทั้งเร่งรัดและกำชับให้งานที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาแล้ว ยังได้ให้แนวคิดและนโยบายที่มุ่งเน้นผลักดันให้ MRCS เป็นองค์กรธรรมาภิบาล โดยดำเนินกิจกรรรม แผนงาน โครงการอย่างโปร่งใส ยึด กฎ ระเบียบของประเทศสมาชิก MRCS และกฎระเบียบขององค์กร MRCS มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สานพลังร่วมแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ และผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ อันเกิดจากการพัฒนาและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซื่อสัตย์ต่อกัน สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศสมาชิก ประเทศคู่เจรจา และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาด้วย" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
นอกเหนือจากการมอบนโยบายแล้ว ในการเดินทางมา สปป.ลาว ครั้งนี้ ยังได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตาม PNPCA โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางของ สปป.ลาว ครั้งที่ 3 ด้วย โดยระยะเวลาที่ผ่านมา สทนช. ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูล โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว ตามระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่อง PNPCA ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วรวม 3 ครั้ง ที่จังหวัดนครพนม อำนาจเจริญ และจังหวัดเลย โดย สทนช. ได้มีการรวบรวมข้อกังวลด้านผลกระทบของทุกภาคส่วนในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เพื่อกำหนดเป็นท่าทีของไทยเสนอต่อ สปป.ลาว ได้รับทราบต่อไปด้วย