ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และยังไม่มีสัญญาณว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ขณะที่กำลังซื้อของคนในประเทศที่ซึมต่อเนื่องตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา จากหลายปัจจัยลบจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 มากพอสมควร
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยกเลิกหรือชะลอแผนการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจและสร้างรายได้ จนทำให้มีการเลิกจ้าง สะท้อนถึงกำลังซื้อของคนในประเทศที่หายไป และกระทบต่อการใช้จ่ายในภาคธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องซื้อในช่วงเวลานี้ เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์น่าจะมีการใช้จ่ายที่ลดลง ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหาร รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล ยังคงมีการใช้จ่ายเพราะเป็นสินค้าจำเป็น และอาจจะมีการสำรองสินค้ากลุ่มนี้ไว้บ้าง เนื่องจากมีความวิตกกังวลต่อการระบาดของโรค แต่อาจจะมีการปรับพฤติกรรมโดยการเลือกกินอาหารที่มีราคาถูกลงกว่าช่วงปกติ หรือซื้อเฉพาะสินค้าที่มีราคาถูกลงและมีความจำเป็นจริงๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2563 จะหดตัวราว 0.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาวออกไปหรือรุนแรงขึ้น ก็อาจจะทำให้มูลค่าตลาดค้าปลีกหดตัวถึง 2.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือคิดเป็นเม็ดเงินค้าปลีกทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่สูญหายไปประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาท" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น กรุงเทพฯ (สยาม ราชประสงค์ รัชดาฯ) ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) เชียงใหม่ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่เดิมทีก็เผชิญความท้าทายจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ (Fixed Asset) ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านั้น หรือการลงทุนขยายสาขาใหม่และการบำรุงซ่อมแซมสาขาเก่า (Renovate) รวมถึงการบริหารพื้นที่เช่า ให้สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการแข่งขันกับ E-Commerce ที่มีบทบาทในตลาดมากขึ้น
ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกที่จับกลุ่มลูกค้าคนไทยระดับกลางถึงล่างอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) น่าจะยังคงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มฐานราก เช่น เกษตรกร แรงงานรายวัน ยังมีแนวโน้มอ่อนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า Segment นี้อาจจะได้รับผลบวกบ้างหากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในระยะข้างหน้า แต่ผู้ประกอบการแต่ละราย ยังคงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาที่เข้มข้นขึ้นในการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และจากการใช้ปัจจัยด้านราคาอย่างเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่กดดันยอดขายของไฮเปอร์มาร์เก็ตให้ยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่จับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อระดับกลางขึ้นบน อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต หรือ E-Commerce คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เช่นกัน จากความระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในวงกว้าง แต่ก็มองว่ายังคงเป็น 2 Segment ที่มีแนวโน้มในการขยายตัวได้ดีกว่าค้าปลีกใน Segment อื่นๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะลากยาวไปจนถึงครึ่งปีแรก ขณะที่กำลังซื้อของคนในประเทศยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การว่างงานที่เพิ่มขึ้น และภัยแล้ง จะส่งผลให้มูลค่าตลาดค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวสูง จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศที่ซบเซา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ที่น่าจะมีการใช้จ่ายที่ลดลง และอาจจะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มสินค้าสินค้าอุปโภค-บริโภค จำพวกอาหารแห้ง ของใช้ส่วนตัว รวมถึงหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งมีความจำเป็นและอาจมีการสำรองสินค้ากลุ่มนี้ไว้บ้างตามกำลังซื้อท่ามกลางความกังวลต่อ COVID-19
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ภายในครึ่งปีแรก ประกอบกับการมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ ของทางภาครัฐ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะกลยุทธ์ทางด้านราคา ควบคู่ไปกับการมีมาตรการดูแลและป้องกันทางด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการภายในร้านค้าปลีก ก็น่าจะช่วยประคับประคอง และทำให้บรรยากาศของการใช้จ่ายไปยังธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวได้บ้าง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 และยังต้องรอมาตรการของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะกลยุทธ์ทางด้านราคาอย่างคุ้มค่าในจังหวะเวลาที่เหมาะสม การรักษาคุณภาพของการให้บริการที่ดีสม่ำเสมอ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ ยังคงมีความจำเป็นต่อการกระตุ้นหรือจูงใจให้ผู้บริโภคออกมาใช้จ่าย ภายใต้การประเมินถึงความคุ้มค่าของการใช้งบในการทำการตลาดและจังหวะเวลาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการมีมาตรการดูแลและป้องกันสุขภาพจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการภายในร้านค้าปลีก