นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวในงานเสวนาพิเศษ"Growth Engines and Opportunities in Capital Market 2020" ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 3% ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากเมื่อครั้ง Hamburger Crisis พบว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ถึง 3.6%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ฉุดเศรษฐกิจโลก มาจากความกังวลในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจีน ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19), สหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% และในยุโรปคาดว่า GDP จะเติบโตไม่ถึง 1% และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในประเทศอิตาลี หากนำไปสู่การปิดเขตชายแดน (Border) ในยุโรป ก็จะเป็นการ disrupt กิจกรรมทางเศรษฐกิจของยุโรปเพิ่มด้วย ทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
ความสำคัญของจีนต่อเอเชียหลายประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามและเกาหลีใต้ ที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากจีนมากกว่าในอดีต ดังนั้นหากจีนไม่สามารถซัพพลายวัตถุดิบได้ ก็จะทำให้การผลิตในหลายประเทศในเอเชียหยุดชะงักลง โดยประเทศที่มีโอกาสได้รับกระทบต่อการผลิตในเอเชีย คือ เวียดนาม เกาหลี และใต้หวัน เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทย จะได้รับผลกระทบผ่านการท่องเที่ยวเป็นหลัก รองลงมาคือเรื่องของการผลิต
ด้วยปัจจัยของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำได้ธนาคารฯ คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยจะหายไป 1% ซึ่งถือว่ามากที่สุดในเอเชีย พร้อมคาดว่า GDP ของไทยในปีนี้จะเติบโตได้ราว 1.8% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของประเทศที่ควรจะเติบโตในระดับ 4% และมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในจุดที่ค่อนข้างยาก
มุมมองด้านดอกเบี้ยทางธนาคารฯ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง 0.25% ในการประชุมวันที่ 18 มี.ค.63 และการประชุมในเดือนเม.ย.63 จะปรับลดลงอีก 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% ทำให้จะลดลงเหลือ 0.75% ขณะที่ในประเทศไทยมีการลดดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1% คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.63 จะมีการลดดอกเบี้ยลงอีกมาอยู่ที่ 0.75% เป็น New Low ของประเทศ
"วันนี้เราอาจจะไม่จำเป็นต้องตอบว่านโยบายการเงินมีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่เราอาจจะต้องใช้ทุกอย่างที่ประเทศมี ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย และนโยบายการคลังที่จะต้องมีการเร่งการเบิกจ่าย คิดว่าวันนี้ด้วยเศรษฐกิจโลกที่โตในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ด้วยเอเชียที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และไทยที่ได้รับผลกระทบที่สุดในเอเชีย การลดดอกเบี้ยและการใช้มาตรการทางการคลังจำเป็นจะต้องใช้ควบคู่กันเพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ"นายทิม กล่าว
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 63 ของกระทรวงการคลัง โดยรัฐบาลได้ใช้นโยบายการคลังมาตั้งแต่ต้นปี ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและภาคประชาชน ซึ่งได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน ขณะที่ล่าสุด ในช่วงต้นเดือนมี.ค.63 กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 63 สำหรับผู้มีรายได้น้อย ในวงเงิน 8,500 ล้านบาท และในวันที่ 10 มี.ค.63 เตรียมออกมาตรการชิมช้อปใช้-ช่วยชาติ สำหรับประชาชนทั่วไป ในวงเงิน 35,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันในเดือนเม.ย.63 ก็จะออกมาตรการฯ อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการประชารัฐสร้างไทย, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ด้านมุมมองของนักลงทุนสถาบัน นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มองสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นผลกระทบระยะสั้นต่อประเทศไทย จากมีข้อได้เปรียบในเชิงฤดูกาล แต่จะน่าเป็นห่วงในประเทศที่มีอากาศหนาวที่ยาวนาน มีประชากรอยู่ร่วมกันมากๆ และมีการคัดกรองได้ยาก
อย่างไรก็ตามในช่วงที่หุ้นปรับตัวลดลงถือเป็นจังหวะเข้าซื้อสะสมของกองทุน โดยเฉพาะหุ้นที่มีอนาคตที่ดีเมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจ นักลงทุนสถาบันยังมีความเชื่อมั่นต่อประเทศ เชื่อว่าประเทศไทยจะต้องผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ไทยก็ยังมีเสถียรภาพอีกหลายด้าน เช่น การเงิน การคลัง หรือนโยบายทางการเงิน หรือแม้กระทั้งสถาบันการเงิน ทำให้เชื่อว่าจะต้องผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ แม้จะต้องมีการปรับตัวอยู่บ้าง
นอกจากนี้มองการตัดสินใจการเข้าซื้อของนักลงทุนในปัจจุบัน คงไม่ได้ตัดสินใจที่ GDP ของประเทศเติบโต 2% หรือการปรับประมาณการณ์ EPS จะลดลงอีกเท่าใด แต่เป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องมองในระยะยาวกว่านั้น และจำเป็นที่จะต้องถามตัวเองให้ได้ว่าจะใช้ประโยชน์กับโควิด-19 นี้อย่างไร เชื่อว่าตลาดฯ จะมีกระบวนการในการคัดเลือกบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง และสามารถที่จะสะท้อนต่อราคาหุ้นให้มีการเติบโตได้ รวมถึงการมองเห็นสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดดี ที่ไม่ผันแปรไปตาม GDP ตลอดเวลา
"สุดท้ายแล้ว investor ที่ประสบความสำเร็จ คงต้องมีการทำการบ้านมากขึ้น คงไม่ได้มาดูว่า Market P/E อยู่ที่เท่าไหร่ ไม่ได้มาดูว่าหุ้นที่มี P/E 13 เท่า 14 เท่า น่าซื้อทุกตัวหรือไม่ แต่จะต้องมีความสามารถในการมองทะลุลงไปว่าในแต่ละบริษัทมีความสามารถอย่างไร และสามารถที่จะซื้อและถือให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไป ซึ่งถือว่าเป็นหลักการทั้งในยามที่เกิดโรคระบาดและไม่เกิดโรคระบาด ขณะเดียวกันก็มองภาครัฐเองก็คงจะพยายามทุกวิถีทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงธนาคารกลางแห่งประเทศไทย และทั่วโลกด้วย"
ส่วนธีมการลงทุนในปีนี้ ทางบลจ.ไทยพาณิชย์ โฟกัสไปยังหุ้นกลุ่ม Infrastructure, ห้นที่มีการจ่ายปันผลดี, หุ้นกลุ่ม consumption และไฟแนนซ์ เป็นต้น
นางสาวธิดาศริริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 น่าจะเห็นการฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ในครึ่งปีหลังนี้ หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ขณะที่ก็คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยออกมา รวมถึงการลงทุนจากภาครัฐ และงบประมาณประจำปีที่จะเริ่มเบิกจ่ายได้ในเดือนเม.ย.นี้ จะช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศ ส่วนนโยบายการเงินไทยยังคงผ่อนคลาย และสภาพคล่องอยู่ในระดับที่สูง อีกทั้งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม บล.กสิกรไทย ได้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทยลงเหลือประมาณ 4% ขณะที่ Valuation ของตลาดปัจจุบันที่ P/E ประมาณ 14 เท่า อยู่ในระดับถูกกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 14.7 เท่า แต่อัตราการเติบโตของกำไรยังมีความเสี่ยงจากการปรับลงอีก หากสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์การระบาดสามารถควบคุมได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยออกมา คาดว่าดัชนีจะสามารถปรับตัวขึ้นแตะ 1,500 จุด ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง