นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.63 เตรียมปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 จากเดิมคาดโต 2.7% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 เห็นผลกระทบชัดเจนจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยคาดว่าไตรมาส 1/63 มีโอกาสหดตัวมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมส่งออกก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 65% ของ GDP ประเทศ เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศหลักที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมทั่วโลกและภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะนโยบายทางการคลังของรัฐบาลยังมีช่องว่างค่อนข้างมากหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น หนี้สาธารณะอยู่ที่ 41% อยู่ในกรอบวินัยทางการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ระดับสูง ดังนั้นนโยบายการคลังของไทยยังมีเพียงพอสามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ รองรับกับภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในทิศทางชะลอตัวในช่วงนี้
"คิดว่าช่วงนี้ไทยควรใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือกับภาวะการชะลอตัวจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 เพราะมองว่าช่วยให้เงินเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้นโยบายการเงิน ซึ่งมองว่าไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และทรงตัวต่ำมานานแล้ว ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่ระยะสั้นการใช้นโยบายการคลังจะมีประสิทธิภาพกับเศรษฐกิจมากที่สุด"นายเกียรติพงศ์ กล่าว