พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานสัมมนา Cyber Tech 2020 : Challenging in IoT ว่า IoT (Internet of Thing) หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ปัจจุบันมีการใช้งาน IoT อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ Smart Device ของใช้ส่วนตัวของผู้บริโภค ไปจนถึงนำมาใช้พัฒนาเป็นส่วนหนึ่งในเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งจากผลการสำรวจของ Gartner พบว่าอุปกรณ์ IoT ทั่วโลกในปัจจุบันมีมากกว่า 26 พันล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากเมื่อราว 4 ปีก่อนที่มีจำนวนอยู่ราว 6 พันล้านชิ้น ที่น่าสนใจคือมีคาดการณ์ว่าเมื่อมีการใช้งาน 5G จำนวนของอปุกรณ์ IoT จะเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ IoT กำลังถูกคุกคามทางด้านไซเบอร์ในหลายรูปแบบ และจะมีมากยิ่งขึ้นตามจำนวน IoT ที่มากขึ้นในอนาคต เช่น มีการโจมตีเพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ล่ม หรือที่เรียกว่า Distributed Denial of Service (DDoS) ด้วยอุปกรณ์ IoT โดยตรง (Mirai) ซึ่งเป็นมัลแวร์มีเป้าหมายที่ใช้อุปกรณ์ IoT เช่น CCTV, DVR หรือ Webcam โดยเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านั้นให้เป็น Botnet เพื่อใช้โจมตีแบบ DDoS ให้ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเครือข่ายที่ IoT นั้นเชื่อมต่อล่มสลาย นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้อุปกรณ์ IoT เป็นฐานในการโจมตีมีจำนวนมากกว่าการใช้ PC และมีอำนาจในการทำลายล้างที่รุนแรง และรวดเร็วกว่าการใช้ PC แบบเดิม
กสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแล โดยกำกับผ่านผู้ประกอบการสื่อสาร ได้แก่ AIS, DTAC, TRUE และ CAT ให้ช่วยดูแลไม่ให้มีภัยคุกคามในเครือข่ายของตนเอง ให้มีการใช้งานอย่างปลอดภัย รวมทั้ง Mobile Devices ก็ต้องมีความปลอดภัย และมีมาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งดีที่เครื่องมือถือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่อุปกรณ์ IoT ที่ผู้ประกอบการในประเทศสามารถผลิตและพัฒนาขึ้นมาได้เองก็ต้องเข้าไปกำกับดูแล ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการหารือกันภายใน กสทช. และกับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต อย่างไรก็ดี การกำกับมากจนเกินไปก็จะทำให้ไม่เกิด Innovation รวมทั้งเพิ่มภาระให้แก่บริษัทขนาดเล็ก
สำหรับในประเทศไทย สำนักงาน กสทช.ได้วางมาตรการเข้มงวดในการกำกับดูแล และตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัย พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ดังนั้นจะเห็นได้จากการที่ กสทช.ผลักดันให้เกิดการประมูล 5G ต้องการให้เกิด IoT อย่างเป็นรูปธรรม ใช้งานได้จริง ซึ่งประกาศผลักเกณฑ์การประมูลนั้น ผู้ชนะการประมูลจะต้องสร้างโครงข่ายให้รองรับและเป็นไปตามมาตรฐาน 5G ทั้งในด้านความเร็ว ความหน่วง และรองรับอุปกรณ์จำนวนมาก
นอกจากนี้ผู้ชนะโดยเฉพาะคลื่น 2600MHz จะต้องสร้างโครงข่าย 5G ของพื้นที่ใน EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะนำ 5G มารองรับ IoT ในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งจะต้องส่งแผนการดำเนินการทางด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และแผนการดำเนินการด้านข้อมูลส่วนบุคคลมาให้ทาง กสทช.เพื่อพิจารณา ก่อนที่สำนักงาน กสทช.ต้องตรวจสอบให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว และยังมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
"เราต้องกำกับดูแลให้ประชาชนได้ใช้อย่างปลอดภัย Mobile Devices ก็มาจากผู้ประกอบการหรือ Mobile Operator ส่วนอุปกรณ์ที่อาจใช้คลื่นความถี่ กสทช.ก็กำกับไม่ให้มากวนกันและกัน ส่วนความปลอดภัยอาจจะไม่ใช่หน้าที่ แต่ กสทช.ก็มีหน้าที่ทำให้อุปกรณ์ปลอดภัย ก็ต้องมาพูดคุยกันเพื่อให้เกิดมาตรฐานใช้อย่างปลอดภัย" พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
ด้านนายนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อมูลที่มีการใช้จ่าย IoT จำนวน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่ใช้ในกลุ่ม Consumer, Transport, Manufactory, Logistic โดยมีอุปกรณ์กว่า 2 หมื่นล้านชิ้น โดยไทยจะมีการใช้ IoT ในภาคบริการ ภาคการผลิต โดยผู้ผลิตสามารถผลิตอุปกรณ์ได้ตามความต้องการผู้ใช้ ซึ่งมีลักษณะ B to G , B to B และ B to C อย่างไรก็ตามก็มีโอกาสความเสี่ยงมากในด้านความปลอดภัยที่อาจมีการเจาะข้อมูลได้ จึงควร update password บ่อยๆ หรือสร้างระบบยืนยันตัวตน
ขณะที่นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ กรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) กล่าวว่า จากนี้ไปไม่เกิน 1 ปีจะมีการใช้ IoT อย่างมาก อาทิ การรายงานสภาพอากาศ, รายงานจราจร จึงต้องการเตือนว่าอาจจะพบแอพพลิเคชั่นปลอม เมื่อเราเปิดดูจะแฮ็กข้อมูลได้ง่าย และต้องระมัดระวังผ่านข้อมูลข่าวสารมากขึ้น อาจจะถูกหลอกได้ และที่น่าระวังหากคนร้ายเข้ามือถือได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถโอนเงินผ่านมือถือได้ก็อาจจะสูญเงินได้
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บมจ.ทีโอที กล่าวเตือนให้ระมัดระวัง แต่อย่ากลัวเทคโนโลยีจนเกินไป อาจจะหยุดยั้งการเติบโตของ IoT โดยเราพยายามอัพเดทซอฟท์แวร์ และระบบ รวมทั้งหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อยๆ