นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้รายงานผลการตรวจสอบมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยภายใต้โครงการ การรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนตามโครงการ USAP-CMA ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) ระหว่างวันที่ 11-21 ก.พ.63 ซึ่ง ICAO ได้ทำการตรวจสอบ เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย มีคำถามทั้งหมด 497 ข้อ เช่น ด้านกฎระเบียบ การบริหารจัดการ และมีการตรวจสอบท่าอากาศยาน 2 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ และภูเก็ต โดยพบข้อบกพร่อง 44 ข้อ ซึ่งมั่นใจว่าจะผ่านการประเมิน และมีแนวโน้มได้รับระดับผลที่สูงกว่าการประเมินล่าสุดเมื่อปี 60 ตามโครงการ USAP-CMA จำนวน 480 ข้อ พบข้อบกพร่อง 49 ข้อ โดยได้ระดับประสิทธิผลการนำมาตรฐาน ICAO มาบังคับใช้ในประเทศของไทยที่ 55.78%
ทั้งนี้ ขอบเขตในการตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศทั้งระบบมี 9 เรื่อง คือ 1. การกำกับดูแลและระบบการรักษาความปลอดภัยของประเทศ 2. การฝึกอบรมบุคลากรตามมาตรฐาน 3. การควบคุมคุณภาพ 4. การดำเนินงานในสนามบิน 5. การรักษาความปลอดภัยอากาศยานและระหว่างทำการบิน 6.การรักษาความปลอดภัยผู้โดยสารและสัมภาระ 7.การรักษาความปลอดภัยสินค้า ครัวการบิน และไปรษณียภัณฑ์ 8.การตอบสนองต่อการกระทำอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 9.การรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการบินพลเรือน
คณะผู้ตรวจสอบ ICAO ไม่พบข้อบกพร่องที่เป็นนัยสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัย ส่วนข้อบกพร่องและข้อสังเกต 44 ข้อ อย่างไม่เป็นทางการนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมควบคุมคุณภาพที่ยังดำเนินการไม่ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่ง ICAO ขอให้ไทยตรวจเพิ่มเป็นพิเศษเช่น การขนส่งสินค้า(คาร์โก้) การบริการครัวการบิน (Catering) และไปรษณียภัณฑ์ การปฏิบัติการของสนามบิน เรื่องการเพิ่มบุคลากร
หลังจาก ICAO ได้ตรวจสอบเสร็จเมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 ตามกรอบเวลา ICAO จะแจ้งผลการตรวจและคะแนนอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน หรือในวันที่ 21 เม.ย.23, กพท.มีความเห็นต่อผลการตรวจสอบแจ้งไปยัง ICAO ภายใน 30 วัน หรือในวันที่ 21 พ.ค.63 , กพท.ทำแผนแนวทางการแก้ไขข้อบกพร่อง 44 ข้อ เสนอต่อ ICAO ภายใน 30 วัน หรือในวันที่ 21 มิ.ย.63 , ICAO ตรวจสอบการแก้ไข ภายใน 60 วัน หรือตอบกลับในวันที่ 21 ส.ค.63
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากการตรวจสอบแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีมาตรฐานในการดำเนินการตามมาตรฐาน ICAO และจะไม่ถูกธงแดงอีก นอกจากนี้ ยังให้ กพท.พิจารณาแนวทางการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะ Slot การบินระหว่างประเทศเช่นกรณีที่ต้องหยุดบินในช่วงนี้ แล้วไทยยังคง Slot ให้อยู่ก็ขอให้ประเทศนั้นๆ คง Slot ของสายการบินไทยด้วยในลักษณะเดียวกันเพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคต โดยประเทศไทยมีสายการบินสัญชาติไทย ทำการบินให้บริการ 12 สาย และสายการบินต่างชาติ 150 สาย
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐ (FAA) คาดว่าจะสามารถเชิญ FAA เข้ามาตรวจสอบประมาณเดือนมิ.ย.63 เพื่อปรับระดับการจัดกลุ่มของประเทศไทยให้อยู่ใน Category 1
สำหรับประเด็นตรวจรับรองการออกใบอนุญาตนักบินใหม่ประมาณ 3,000 คน เพื่อแก้ปัญหาการออกใบอนุญาตนักบินไม่ได้มาตรฐาน โดยกพท.จะต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ (Inspector) นั้น ได้ใช้วิธีการOutsource นักบินเอกชน มาช่วยตรวจสอบ ซึ่ง FAA ไม่ติดใจและรับทราบแผนการดำเนินการ