เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ปูฐานผลิตไบโอดีเซล และ ยางพารา เร่งหาพื้นที่ปลูกเองร่วมส่งเสริมเกษตรกรปลูก หลังมองธุรกิจมีอนาคตดีจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น เตรียมหาพาร์ทเนอร์ร่วมทุนตั้งโรงงานไบโอดีเซลในปี 55
นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือซีพี เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบตามบริเวณพื้นที่ปลูก และคาดว่าในปี 55 จะตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลได้ เบื้องต้นประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 240 ล้านบาท โดยบริษัทอาจจะพิจารณาร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายอื่น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษได้ร่วมกับบมจ.ปตท.(PTT) ร่วมวิจัยกันอยู่แล้วรวมถึงกระทรวงพลังงานด้วย
"แนวโน้มไบโอดีเซลบ้านเราก็โตอยู่แล้ว รัฐบาลก็มีนโยบายชัดเจน ตอนนี้เราก็ดูอยู่ว่าจะซื้อโนว์ฮาว โรงงานของใคร ก็มี เยอรมัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐ" นายมนตรีกล่าว
ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันให้ครบ 4,200 ไร่จากที่มีอยู่กว่า 100 ไร่ โดยจะขยายใน จ.นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ระนอง สระบุรี พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกในลักษณะ contract farming โดยใช้กล้าพันธุ์ใหม่"CP Golden Tenera"ที่ให้ผลผลิตเมื่อปลูกได้ 2 ปี 6 เดือน เร็วขึ้นจากพันธุ์เดิมที่ต้องรอถึง 4 ปี และยังให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 4 ตัน
นายมนตรี กล่าวว่า หากทำได้ตามแผนบริษัทก็จะสามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 3 แสนตันต่อไร่ จากขณะนี้ผลิตได้ 1.5 แสนตันต่อไร่ โดยราคารับซื้อขณะนี้ปรับขึ้นเป็น 5 บาท/กก.จากเดิมอยู่ที่ 2 บาทกว่า/กก.
สำหรับการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา นายมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขอให้กรมป่าไม้หาพื้นที่สำหรับการปลูกยางพาราอย่างน้อย 2 พันไร่ขึ้นไป โดยปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ปลูกอยุ่ที่ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ รวมกันไม่ถึง 100 ไร่ ขณะที่บริษัทตั้งเป้ามีพื้นที่ปลูกยางพารา 1 แสนไร่ภายในปี 54 เพราะมองว่าแนวโน้มราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน
รวมทั้งมีการประเมินว่าในช่วงปี 53-58 ผลผลิตยางพาราจะขาดแคลน ก็จะยิ่งทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอาจถึง 120 บาท/กก. จากปัจจุบัน 80 บาท/กก.
"ยางพาราเราใช้เวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 47 ถึงปี 53 คิดว่าจะมีผลผลิตเพียงพอ และเราก็รับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งเดี๋ยวนี้เรามีพันธุ์ที่จะปลูกที่ไหนก็ได้ ต่อไปเราก็จะสร้างโรงงานเพื่อทำเป็นยางแผ่น ยางแท่ง ซึ่งก็อาจจะหาคนมาร่วมทุน หาโนว์ฮาวจากเขามา" นายมนตรีกล่าว
อย่างไรก็ดี หากหาพื้นที่ปลูกทั้งปาล์มน้ำมันและยางพาราในประเทศไม่ได้มาก ก็จะขยายไปปลูกที่ลาว หรือ กัมพูชา
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--