นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย (PwC) เผยผลสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัวไทยปี 62 พบการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเป็นความท้าทายอันดับที่ 1 ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หลังการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ฉุดกำลังซื้อ
ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้สร้างความน่าเป็นห่วงให้กับหลายฝ่าย และมองว่า มีความเป็นไปได้ที่ทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในสภาวะเช่นนี้ไปอีกพักใหญ่ เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายด้าน
โดยในส่วนของไทย ปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในบางกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงตามกำลังซื้อที่หดตัวจากการขาดรายได้จากแรงงานในภาคการขนส่งและท่องเที่ยว เกษตรกรที่มีรายได้ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานหรือภาคการผลิตทยอยปิดตัวชั่วคราวและถาวร ซึ่งทั้งหมดถือเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตอยู่ในเวลานี้
ทั้งนี้ นายนิพันธ์ ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัว ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อย หรือ เอสเอ็มอี รวมไปถึงบริษัทขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่สูง โดยมองว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 เดือนนี้ อาจเห็นธุรกิจขนาดเล็กเริ่มปิดกิจการ อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ธุรกิจครอบครัวและเอสเอ็มอีขนาดเล็ก จะต้องตั้งรับกับสถานการณ์ให้ดี โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากความเสี่ยงที่กำลังเผชิญ
"เศรษฐกิจไทยปีนี้ได้รับผลกระทบหนักกว่าเดิม เพราะเราเจอทั้งปัญหาภัยแล้ง และการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อหดตัวมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า การระบาดของไวรัสนี้ อาจจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ได้ จึงต้องติดตามว่า สถานการณ์จะกินเวลานานแค่ไหน จึงจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งหากยืดเยื้อ เรามองว่า น่าจะเห็นธุรกิจครอบครัว หรือบริษัทขนาดเล็กล้มหายไปจากระบบพอสมควร"
แต่ในมุมกลับกัน นี่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจครอบครัวที่มีความพร้อมด้านเงินทุนในการซื้อกิจการ หรือหาพาร์ทเนอร์เพื่อเป็นพันธมิตร เพราะน่าจะได้ของดี ราคาไม่แพงและต้นทุนทางการเงินไม่สูงนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง" นายนิพันธ์ กล่าว
นายนิพันธ์ กล่าวอีกว่า ความท้าทายอันดับที่ 1 ของธุรกิจครอบครัวในสายตาผู้นำรุ่นใหม่ในปีนี้ คือ การเข้ามาของดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Digital disruption) ในอนาคต
ทั้งนี้ รายงานผลสำรวจ NextGen Survey 2019 ฉบับประเทศไทย ของ PwC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลสำรวจ Global NextGen Survey 2019 ได้ถูกจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก ผ่านการสำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ทั่วโลกจำนวนกว่า 950 ราย รวมทั้งผู้นำธุรกิจครอบครัวไทยจำนวน 31 ราย
รายงานระบุว่า การเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล (Digitalisation) ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญภายใต้การบริหารของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ เพื่อพลิกโฉมให้กิจการสามารถก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดย 83% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ระบุว่า การมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่พวกเขาจะให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ และการเสริมสร้างทักษะให้กับพนักงานที่ 62% เท่ากัน
นอกจากนี้ 79% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทยยังกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัว และช่วยให้กิจการสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธุรกิจในยุคนี้ แต่วิธีการที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความความสำเร็จต่างหากคือ ความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจครอบครัวของไทยหลายรายยังค้นหาหนทางไม่พบ
"ผลสำรวจของเราชี้ว่า ผู้บริหารรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนผ่านองค์กรของตนไปสู่ดิจิทัลอย่างจริงจัง เพราะส่วนใหญ่เติบโตมากับเทคโนโลยีและมีความคุ้นเคยกับการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ ธุรกิจครอบครัวต้องจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งหาสมดุลระหว่างการขยายการเติบโตของกิจการและจัดการกับความท้าทายเพื่อนำพาธุรกิจให้สามารถฝ่าวิกฤติต่าง ๆ ไปได้อย่างราบรื่นด้วย" นายนิพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ผลจากการสำรวจยังได้เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรด้วยการยกระดับทักษะ (Upskilling) ให้กับตัวผู้นำรุ่นใหม่และพนักงาน โดย 83% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทย เชื่อว่า การยกระดับทักษะจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัวได้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ในเอเชียแปซิฟิก (62%) และทั่วโลก (61%)
แม้สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแบบนี้อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล รวมไปถึงการยกระดับทักษะขององค์กรหลายแห่ง แต่นายนิพันธ์มองว่า ผลลัพธ์ของการนิ่งเฉย จะยิ่งส่งผลเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล เพราะในที่สุด ทุกองค์กรไม่เฉพาะธุรกิจครอบครัว จำเป็นที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเป็นผลดีกับองค์กรในระยะยาว ซึ่งผลสำรวจพบว่า องค์กรที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานส่วนต่าง ๆ จะสามารถบริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้ดีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานได้มากขึ้นอีกด้วย
"การยกระดับทักษะแรงงานเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ทำได้หลายวิธี โดยผู้นำรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่ง พนักงาน สามารถอัพสกิลตัวเองได้ผ่านการเรียนรู้จากเว็บไซต์ แอพพลิเคชันต่าง ๆ หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคตต่าง ๆ โดยในปัจจุบัน มีคอร์สทางด้านดิจิทัลออนไลน์ที่บางมหาวิทยาลัยเปิดสอนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และอยากให้ผู้นำรุ่นใหม่และผู้นำธุรกิจตระหนักเสมอว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเลวร้ายแค่ไหน แต่เราไม่สามารถหยุดที่จะพัฒนาตัวเองและองค์กรได้ เพราะการยกระดับทักษะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเราทุกคนเพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในโลกทำงานยุคดิจิทัล"นายนิพันธ์ กล่าว
https://youtu.be/UOdzhNPpTNM