ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ.63 อยู่ที่ 64.8 จากเดือน ม.ค. 63 ที่อยู่ในระดับ 67.3 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 21 ปี สาเหตุมาจากความกังวลการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และปัญหาภัยแล้ง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.พ.อยู่ที่ 52.5 ลดลงจากเดือน ม.ค.63 ที่อยู่ในระดับ 54.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 61.4 จาก 63.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 80.4 จาก 83.0
ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ลงเหลือ 1.5-2.5% ขณะเดียวกันมีการเปิดเผย GDP ในไตรมาส 4/62 ที่พบว่าขยายต่ำสุดในรอบ 5 ปี, ความกังวลสถานการณ์ภัยแล้ง, ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อย, ความกังวลต่อสถานการณ์ PM2.5, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นช้าและยังกระจุกตัว
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ย 0.25%, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา, การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3.35% ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง
พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้ลดเหลือ 1.1% จากเดิม 2.8% ส่งออกพลิกเป็นติดลบ -1%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนก.พ.นี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี 11 เดือน หรือราว 21 ปี นับตั้งแต่เดือนเม.ย.42 เป็นต้นมา ทั้งนี้ดัชนีในภาพรวมยังอยู่ต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 ซึ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก โดยผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ล่าช้า รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง อาจเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรดำเนินนโยบายการเงิน และการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกตัว ออกมาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตออกมาต่ำกว่าในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 แสดงให้เห็นว่าคนยังไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาอาจจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่นัก...คาดว่าการจับจ่ายใช้สอยอาจจะกลับมาได้ช่วงกลางไตรมาส 3" นายธนวรรธน์ ระบุ